กรุงเทพฯ 24 ธ.ค. – “ธนวรรธน์” ชี้ขึ้นค่าแรงช่วงเวลาเหมาะสม อาจทำสินค้าขึ้นราคา 2.5-5% ส่วน Easy e-Receipt คาดมีเงินหมุนในระบบ 30,000-50,000 ล้านบาท ประเมินทั้ง 2 มาตรการ หนุนจีดีพีปี 68 อีก 0.4-0.5%
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผล 1 มกราคม 2568 อยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม จะส่งผลให้แรงงานไทยได้ประโยชน์ราว 3.7 ล้านคน หากรวมทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวจะได้ประโยชน์ราว 9 ล้านคน หรือเฉลี่ย 10 บาท/วัน ดังนั้นจึงคาดว่าจะส่งผลกระทบกับต้นทุนของผู้ผลิตไม่มากนัก อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ คาดว่าจะทำให้สินค้าปรับขึ้นราคา 2.5-5% มีผลต่อเงินเฟ้อปี 68 เพิ่มขึ้น 0.1-0.2% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ถือว่าเป็นผลในเชิงบวกทางเศรษฐกิจ ประชาชนยังไม่เดือดร้อน จากเดิมที่คาดการณ์ว่าหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ จะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 10-20% อย่างไรก็ตาม หากค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นแรงและเร็ว จะส่งผลให้ ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น เทคโนโลยี AI เข้ามาแทนที่แรงงานคนเร็วขึ้น และการลงทุนของต่างชาติอาจจะชะลอลง
ส่วนโครงการ Easy E-Receipt ประเมินว่าจะมีผู้ร่วมโครงการราว 1 ล้านคน จากฐานผู้เสียภาษี 4 ล้านคน คาดว่าจะมีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจตลอด 45 วัน ของโครงการราว 30,000-50,000 ล้านบาท และคาดว่าจะส่งผลต่อ GDP ปี 2568 เพิ่มขึ้น 0.2-0.3% เมื่อประเมินผลทั้ง 2 มาตรการ ทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และ Easy E-Receipt จะทำให้ GDP ปี 2568 เพิ่มขึ้น 0.4-0.5%. -516-สำนักข่าวไทย