คนไทยซื้อบ้านไม่ผ่าน พุ่ง 80%

กรุงเทพ 19 ก.ย.-คนไทยซื้อบ้านไม่ผ่านพุ่งสูงถึง 80% ยอดโอนกรรมสิทธิ์ลดลงร้อยละ 4.4 แต่ราคาเฉลี่ยที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปี 2567 จะเติบโตร้อยละ 5.4 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566


บริษัท พร็อพทูมอร์โรว์ จำกัด จัดงานเสวนาประจำปี 2567 ในหัวข้อ “กรุงเทพจตุรทิศ:Property เจอหนี้ 10 ปี อสังหาฯไทยกลับไปไม่เหมือนเดิม”

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า แนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประมาณ 350,545 หน่วย ลดลงร้อยละ 4.4 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โดยจะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบประมาณ 243,088 หน่วย ลดลงร้อยละ 6.0 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 และจะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยอาคารชุดประมาณ 107,456 หน่วย ลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566


ทั้งนี้หากคิดมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปี 2567 คาดว่า จะอยู่ที่ 1,012,760 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โดยคาดว่าจะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในแนวราบประมาณ 717,052 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.4 และจะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยอาคารชุดประมาณ 295,707 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.9

โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯจะเติบโตร้อยละ 5.4 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 แต่การเติบโตของรายได้เฉลี่ยคนไทยต่อหัวรายปีอยู่ที่ 1.4% เท่านั้น ถ้ามีเงินเดือนไม่ถึง 3 หมื่นบาท อยากซื้อบ้านราคา 7 ล้านบาท โอกาสในการกู้ยากมาก แม้ขณะนี้รัฐจะออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ผ่านการลดค่าธรรมเนียมการโอน การจดจำนอง แต่เราพบว่าไม่ได้มีผลมากนัก ยอดโอนฯ ไตรมาสแรกปี 2567 ติดลบร้อยละ 13 ขณะมาตรการออกมาช่วงเดือน เม.ย. แต่ข้อมูลของไตรมาส 2 ตลาดก็ยังติดลบ 4.5% โดยเฉพาะในกลุ่มที่รัฐสนับสนุน บ้านไม่เกิน 7 ล้าน สถิติติดลบทุกโปรดักส์ มาตรการดังกล่าวให้ผลเชิงบวกแค่ในตลาดคอนโดฯ กับบ้านมือสองเท่านั้น

นายวิชัย ยังชี้ว่า อสังหาฯ ไทยยุคหลังจากนี้ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย เนื่องจากโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภายใต้จำนวนบ้านใหม่ที่เกิดขึ้นเฉลี่ยปีละแสนหน่วย เพราะอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอด สัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 25% ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่เด็กแรกเกิดน้อยลง คนครองตัวเป็นโสดมากขึ้น มีเพียงโอกาสจากความต้องการของผู้ซื้อชาวต่างชาติที่ยังต้องหาคำตอบกันต่อไปถึงความเหมาะสม


ขณะที่นายเผด็จ เจริญศิวกรณ์ รองผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เผยข้อมูล “หนี้” ที่น่าสะพรึงของคนไทย ซึ่งสามารถบ่งบอกทิศทางอสังหาฯ ไทยในอนาคตได้ เมื่อกำลังซื้อบ้านกลุ่มใหญ่ อย่างคนเจน Y มีหนี้เสียล้นระบบ ทั้งนี้ มีการขยายความผ่านภาวะเศรษฐกิจมหภาคว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาหนี้คนไทย ซึ่งแต่ละช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เจอวิกฤติเศรษฐกิจแตกต่างกัน ขณะสถานการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยเจอทั้งแรงกระแทกจากสงคราม การจับจ่ายที่น้อยลงจากประชากรลดลง ส่วนภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายเรื่อง green economy ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ขยายตัวแค่ 2.3% และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยรวมเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาจากโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึง ขณะเปิดภาพ GDP ย้อนหลัง 10 ปี เศรษฐกิจไทยก็ไม่เคยขยายตัวได้เกิน 5% เลย นี่คืออุปสรรคใหญ่ของตลาดอสังหาฯ เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้อ อีกทั้ง ข้อมูลจากเครดิตบูโรพบว่า สินเชื่อที่เติบโตขึ้นทุกปีไม่ใช่สินเชื่อกลุ่มมั่นคง หากแต่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น เพราะคนยอมเสียดอกเบี้ยแพง เพื่อให้มีเงินมาจับจ่ายใช้สอย ประคองชีวิตที่มีปัญหาจากเศรษฐกิจ ขณะกราฟสินเชื่อบ้านไม่ได้เติบโต ตลาดสินเชื่อต่างๆ ยังมีผลมาจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง สวนทางเมื่อดอกเบี้ยต่ำ ดีมานด์ขอสินเชื่อใหม่จะเพิ่มขึ้นทันที

ผู้บริหารเครดิตบูโร ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้คนไทยกำลังเผชิญกับปัญหารายได้กับรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน แต่ที่น่ากังวลกว่าคือ มีคนไทยจำนวนมากที่มีหนี้มากกว่ารายได้ ซึ่งก็ล้วนแล้วมาจากปัญหาเศรษฐกิจแทบทั้งสิ้น ทำให้ปัจจุบันคนไทยมีภาระหนี้สูงมากเป็นประวัติการณ์ เฉลี่ยกว่า 6 แสนบาทต่อครัวเรือน คนรายได้ไม่ถึง 3 หมื่นบาท ขยับไม่ได้ หนี้ครัวเรือนยังทำให้การท่องเที่ยวซึ่งเป็นฟันเฟืองใหญ่ของเศรษฐกิจหดตัว โดยหนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 90.8% ต่อ GDP บน 8 ข้อเท็จจริง เป็นหนี้เร็ว, เป็นหนี้เกินตัว, เป็นหนี้โดยไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนหรือถูกต้อง, เป็นหนี้นาน, เป็นหนี้เพราะมีเหตุจำเป็น, เป็นหนี้เสีย, เป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น และเป็นหนี้นอกระบบซึ่งภูเขาหนี้กระจุกตัวในคนกลุ่มเจน Y ขณะที่เราพบว่า สินเชื่อบ้านไม่ผ่านการอนุมัติหรือถูกรีเจ็กต์สูงถึง 80% มากกว่าปีที่แล้วเกือบเท่าตัว สินเชื่อบ้านกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หรือ SM ก่อตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงโควิด เช่นเดียวกับหนี้เสียหรือ NPL ความน่ากังวลคือ ในอนาคตแนวโน้มของ SM จะลดลง แต่จะเปลี่ยนเป็น NPL หนี้เน่าเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง .513.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี