กรุงเทพฯ 10 ก.ค.-ไทย-ญี่ปุ่น ขยายความตกลง BSA ลงนามฉบับใหม่ช่วง ก.ค.นี้ รองรับกู้เงินยามฉุกเฉิน ส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินระหว่างสองประเทศ
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการต่ออายุความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตรา (Bilateral Swap Agreement) ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังญี่ปุ่น (ความตกลง BSA) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอเพื่อเป็นกลไกทางการเงินในการให้ความช่วยเหลือระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralism: CMIM)
ธปท. และกระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้จัดทำความตกลง BSA ฉบับแรกขึ้นเมื่อปี 2544 วงเงิน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้มีการปรับปรุงและต่ออายุมาอย่างต่อเนื่อง และมีความตกลง BSA มาแล้วทั้งสิ้น 5 ฉบับ โดย ครม. ได้มีมติรับทราบการต่ออายุความตกลง BSA มีกำหนดจะลงนามในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 ความตกลง BSA ฉบับใหม่ มีสาระสำคัญเพื่อขยายอายุความตกลงปัจจุบันไปอีก 3 ปี ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2570 ซึ่งการต่ออายุความตกลง BSA ครั้งนี้ไม่กระทบสาระสำคัญอื่นๆ ของความตกลง BSA
โดยรายละเอียด ดังนี้
1.รูปแบบกลไก ประกอบด้วย (1) กลไกแก้ไขวิกฤต และ (2) กลไกป้องกันวิกฤต
2.รูปแบบการเบิกถอน ประกอบด้วย (1) การเบิกถอนสองทางสำหรับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (Two-Way) และ (2) การเบิกถอนทางเดียวสำหรับสกุลเงินเยน (One-Way) ซึ่ง ธปท. สามารถเบิกถอนเป็นสกุลเงินเยนได้
3.วงเงินสูงสุดที่สามารถเบิกถอนได้ ประกอบด้วย (1) กรณีขอใช้วงเงินจาก BSAเพียงแหล่งเดียวจะสามารถเบิกถอนได้สูงสุด 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) กรณีขอใช้วงเงินจากทั้ง BSA และ CMIM ที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund (IMF) De-inked Portion) จะสามารถเบิกถอนได้สูงสุด 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (3) กรณีขอใช้วงเงินจากทั้ง BSA และ CMIM ที่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือของ IMF (IMF Linked Portion) จะสามารถเบิกถอนได้สูงสุด 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
4.อัตราดอกเบี้ย (Reference Rate) เป็นไปตามความตกลง CMIM
5.อายุสัญญา มีอายุ 3 ปี
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องลงนามในหนังสือรับทราบข้อผูกพัน ในกรณีที่ ธปท. ขอรับความช่วยเหลือจากความตกลง BSA นั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากความตกลงฉบับปัจจุบัน
ประโยชน์และผลกระทบ
1.การต่ออายุความตกลง BSA เป็นกลไกเสริมสภาพคล่องกรณีที่ไทยประสบปัญหาขาดสภาพคล่องหรือปัญหาดุลการชำระเงิน และจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินระหว่างไทยและญี่ปุ่น
2.การต่ออายุความตกลง BSA สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก ให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ อย่างสมดุลตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และรักษาบทบาทนำของประเทศไทยในภูมิภาคและอนุภูมิภาค รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ องค์กรทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงของประเทศไทย.-515 สำนักข่าวไทย