กรุงเทพฯ 27 พ.ค. – สศช.หวั่นแรงงานไทยขาดคุณภาพ ห่วงผู้ป่วยจิตเวช ยอดพุ่ง 2.9 ล้านคน ในปี 66 สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสูง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาส 1 ปี 67 การจ้างงานลดลงเล็กน้อย ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลง และอัตราการว่างงานร้อยละ 1.01 หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน ผู้มีงานทำ 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน ที่ร้อยละ 0.1 แนะต้องติดตามปัญหาการขาดทักษะของแรงงานไทย อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว การสํารวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พบว่าเยาวชนและกลุ่มวัยแรงงานของไทยจำนวนมากมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์
โดยความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม มีแนวโน้มต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ประกันตน ผู้เกษียณอายุมากขึ้นในปี 2575 อาจมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพมากถึง 2.3 ล้านคน แรงงานส่วนใหญ่ยังมีทักษะไม่สูง และทำงานในสาขาที่มีผลิตภาพแรงงานไม่มากนัก จึงได้รับค่าจ้างน้อย ช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.4 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากร้อยละ 3.4 ของไตรมาสก่อนหน้า สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 91.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ยอมรับภาระหนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อยานยนต์หดตัว ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้อยลงทุกประเภท โดยหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.88 ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.79 ในไตรมาสก่อน นับว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ของคนรายได้ระดับปานกลางหรือล่าง อาจต้องเฝ้าระวังและเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสีย ดังนั้นสถาบันการเงิน ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง เข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
สศช. ยอมรับว่าสังคมยังมีความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงให้รับ/จ่ายบิลออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชันขายสินค้าออนไลน์ ผู้ใช้บริการอาจมีความเสี่ยงต่อการถูกหลอกให้โอนเงินหรือถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์อื่นได้ และปัญหาบริการทัวร์ท่องเที่ยวไม่ตรงปกหรือผิดกฎหมาย คิดเป็นกว่าร้อยละ 85.9 ของเรื่องร้องเรียนตามข้อมูลของสภาองค์กรของผู้บริโภค (ตุลาคม 2565-มกราคม 2567) และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 67 ล้านบาท
Mental Health นับเป็นปัญหาสำคัญต้องเฝ้าระวัง ปัญหาสุขภาพจิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 ยอมรับ่า ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก สะท้อนยังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเป็นจำนวนมาก พบผู้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.48 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 17.20 และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 10.63 อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิด องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12 พันล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทำให้ครัวเรือนต้องจัดหาผู้ดูแล และเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก .-515- สำนักข่าวไทย