กรุงเทพฯ 22 พ.ค. – ครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร คสช. คาดหวังเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย หากเกิดรัฐประหารอีกสร้างความเสียหาย ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมรุนแรง นักวิชาการแนะ ยึดหลักนิติธรรมนำประเทศสู่การพัฒนาใน 10-15 ปีข้างหน้า
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นในโอกาสครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร คสช. 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557ว่า คาดหวังเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย หากเกิดรัฐประหารอีกในอนาคตจะสร้างความเสียหายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมรุนแรง พัฒนาทางการเมืองหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปลายปี 2548 จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549
จึงได้เกิดพลังที่ไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลที่ได้ชัยชนะมาอย่างท้วมท้นจากการเลือกตั้ง แต่ประชาชน ต้องการทำให้เกิดประชาธิปไตยที่มั่นคง (Democratic Consolidation) ไม่ได้ต้องการเพียงรัฐบาลจากการเลือกตั้งเท่านั้น เราต้องการรัฐธรรมนูญกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิปไตย ระบบการเลือกตั้งที่เปิดเผย เป็นกลางและเที่ยงธรรม ต้องการระบบราชการและระบบการเมืองที่มีธรรมภิบาล มีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ความมีระเบียบและเสถียรภาพอีกด้วย
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวต่อว่าบทบาทการเคลื่อนไหวล่าสุดของวุฒิสมาชิกชุดแต่งตั้ง สว. รักษาการกลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนไหวยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ขณะที่จะมีการพิจารณายุบ พรรคก้าวไกล ในช่วงเวลใกล้เคียง การรัฐประหารโดยตุลาการหรือองค์กรอิสระ หรือ การรัฐประหารโดยกองทัพ ล้วนทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยต้องสะดุดลง สร้างความเสี่ยง ความไม่แน่นอนต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ
หากเกิดรัฐประหารโดยเฉพาะการรัฐประหารโดยกองทัพขึ้นอีกในอนาคต ย่อมเกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมาก อาจเปิดโอกาสนำไปสู่การแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจได้ ภูมิภาคนี้และประเทศไทยเป็นพื้นที่ช่วงชิงอำนาจนำ (Hegemony) ของมหาอำนาจอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และ อียู อยู่แล้ว การสร้างความมั่นคงให้กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่ออนาคตของรัฐชาติ และ ลดความเสี่ยงของการเข้าแทรกแซงของมหาอำนาจ หากเกิดการรัฐประหารโดยองค์กรอิสระหรือตุลาการ อาจต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาใหม่ หรือ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนอกวิถีทางประชาธิปไตยที่เปิดช่องเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น การยึดหลักนิติธรรมจะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วใน 10-15 ปีข้างหน้า ประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy) จำเป็นต้องมีระบบสถาบันพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ประชาชนเลือกผู้แทนผ่านระบบพรรคการเมืองเพื่อเข้าทำหน้าที่บริหารประเทศผ่านนโยบายสาธารณะต่างๆที่พรรคการเมืองให้สัญญาประชาคมเอาไว้ .-515 สำนักข่าวไทย