ทำเนียบฯ 23 เม.ย.-รัฐบาลย้ำ แจกเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ประชาชน ร้านค้ารายย่อยได้ประโยชน์ ไม่ปิดทางร้านค้าปลีก คาดเกิดเงินหมุนเวียน 6.5 แสนล้านบาทในปี 69
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เสนอ กำหนดเปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนในช่วงไตรมาส 3 จากนั้นเริ่มใช้จ่ายในช่วงไตรมาส 4 ปี 67 ผ่านงบประมาณวงเงิน 5 แสนล้านบาท ใช้เงินสิ้นสุดโครงการในเดือนกันยายนปี 69 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 68 เพิ่มร้อยละ 1.2-1.8 คาดหวัง เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่ม 3.2-3.5 รอบ และเกิดค่าทวีคูณ 1.2-1.4 เท่า จากวงเงิน 5 แสนล้านบาท ในช่วง 3 ปี (ปี 67-69) มีเงินหมุนเวียนในระบบ 6.5 แสนล้านบาท
นายชัย กล่าวย้ำว่า กรณีมีผู้เป็นห่วงว่าเงินดังกล่าวจะไหลไปยัง ร้าน 7-Eleven นั้น ยอมรับว่า ร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศ 14,500 สาขา ครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 7,000 สาขาเป็นของกลุ่ม CP All ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นแฟรนไชส์ของประชาชนรายย่อยทั่วไป เมื่อเทียบกับร้านค้ารายย่อยของประชาชน เคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง 1.2 ล้านราย โดยเงินหมุนเวียนเกิดจากโครงการคนละครึ่งประมาณ 4.1 ล้านล้านบาท ขณะที่รายได้จากร้าน 7-Eleven จำนวน 3.8 แสนล้านบาท นับว่าสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับโครงการของรัฐ ผลของโครงการจึงไปสู่ราย่อยผู้ใช้เงินเป็นหลัก ยืนยันว่า วันเริ่มโครงการจะมีเงิน 5 แสนล้านบาทมาใช้หนุนหลังอย่างแน่นอน
“การซื้อสินค้า 100 ชิ้น จะเกิดการซื้อสินค้าใหม่เพิ่มร้อยละ 60-70 เพื่อผลิตสินค้าชิ้นใหม่ รัฐบาลไม่ได้รังเกียจว่าเงินจะเข้ากระเป๋าใครในช่วงท้าย เพราะเงินดิจิทับแจกไปนั้น ได้ผ่านการใช้เงินจากประชาชนตัวจริง เมื่อกระทรวงพาณิชย์เปิดลงทะเบียน จึงอยากให้ร้านค้า 1.2 ล้านราย เข้ามาลงทะเบียนร่วมโครงการ ส่วนรายละเอียดประเภทสินค้าซื้อขาย อยากให้เป็นสินค้ากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก เมื่อร้านค้ารับเงินซื้อสินค้าจากประชาชนแล้ว ต้องใช้เงินดิจิทัลไปซื้อวัสดุ วัตถุดิบจากร้านค้าอื่น ผู้ประกอบการขึ้นเงินสดได้ต้องเป็นผู้จดทะเบียนภาษีเท่านั้น ส่วนการโอนเงินและใช้จ่าย รัฐบาลได้สร้าง Supper App ต่อยอดมาจากแอปเป๋าตัง ของ ธ.กรุงไทย ไม่ได้ทุ่มงบจำนวนมาก เพื่อสร้างระบบใหม่” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว .-515 สำนักข่าวไทย