นนทบุรี 29 มี.ค. – ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุดัชนีค่าครองชีพโลกปี 2567 ไทยอยู่ระดับต่ำกว่าปี 2566 เห็นได้ชัดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ย 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ของปี 2567 ที่ปรับลดลงร้อยละ 0.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้กล่าวถึง การจัดทำดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกล่าสุดช่วงต้นปี 2567 ของ Numbeo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลกที่มีชื่อเสียง โดยการจัดทำดัชนีค่าครองชีพดังกล่าว คำนวณจากค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค (ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย) ซึ่งสำรวจข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยเปรียบเทียบกับดัชนีค่าครองชีพของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เป็นฐานอยู่ที่ 100% โดยผลการจัดทำดัชนีค่าครองชีพล่าสุด พบว่า
ดัชนีค่าครองชีพของไทย ในช่วงต้นปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 36.0 ซึ่งต่ำกว่าดัชนีเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่เท่ากับ 100% อยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก ซึ่งอยู่ระดับต่ำ โดยลดลงจากร้อยละ 40.7 หรืออยู่อันดับที่ 79 จาก 140 ประเทศทั่วโลก ในปี 2566 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดลงของ (1) ดัชนีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในร้านขายของชำ (Groceries Index) อยู่ที่ร้อยละ 41.0 ลดลงจากร้อยละ 42.0 ในปี 2566 ซึ่งใช้สินค้าในตะกร้า (Markets) ในการคำนวณดัชนีฯ อาทิ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ขนมปัง ผัก และผลไม้ โดยสินค้าในตะกร้าดังกล่าวมีน้ำหนักมากที่สุดในการใช้คำนวณดัชนีฯ ราคาปรับลดลง และมีทิศทางที่สอดคล้องกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร อาทิ เนื้อสัตว์ และผักและผลไม้ ที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) (2) ดัชนีราคาอาหารในร้านอาหาร (Restaurant Price Index) อยู่ที่ร้อยละ 18.4 ลดลงจากร้อยละ 21.0 ในปี 2566 ซึ่งใช้สินค้าในตะกร้า (Restaurants) ในการคำนวณดัชนีฯ อาทิ เซ็ตอาหารฟาสต์ฟู้ด เบียร์ท้องถิ่น เบียร์นำเข้า และน้ำอัดลม นอกจากนี้ ยังมีสินค้าในหมวดการเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และสาธารณูปโภค ที่นำมาใช้คำนวณดัชนีค่าครองชีพ ซึ่ง Numbeo ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลตัวเลขดัชนี
ดัชนีค่าครองชีพของไทย สอดคล้องกับดัชนีค่าครองชีพของหลายประเทศที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ย 2 เดือนแรก (ม.ค.- ก.พ.) ของปี 2567 ที่ปรับลดลงร้อยละ 0.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เบอร์มิวดา สูงถึงร้อยละ 133.6 ชะลอตัวจากร้อยละ 141.8 ในปี 2566 คาดว่าด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีข้อจำกัดเรื่องการเพาะปลูก การผลิต และต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ ประกอบกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการแพงที่สุดในโลก (2) สวิตเซอร์แลนด์ สูงถึงร้อยละ 112.2 ชะลอตัวจากร้อยละ 114.2 ในปี 2566
ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงมีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน การผลิตเภสัชภัณฑ์ นาฬิกา เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ มีระบบสวัสดิการที่ดี ทัศนียภาพของประเทศมีความโดดเด่นและสวยงาม อีกทั้งการเมืองและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ จึงเป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าครองชีพจึงอยู่ในระดับสูง และ (3) หมู่เกาะเคย์แมน สูงถึงร้อยละ 111.7 จากร้อยละ 103.4 ในปี 2566 ทั้งนี้หมู่เกาะเคย์แมนเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ถูกจัดว่าร่ำรวยที่สุดในโลก มีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน และด้วยภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับชาวต่างชาติ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการอยู่ในระดับสูง ประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ปากีสถาน อยู่ที่ร้อยละ 18.5 จากร้อยละ 18.0
ในปี 2566 เนื่องจากปากีสถานเผชิญปัจจัยท้าทายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัญหาหนี้สินที่อยู่ระดับสูง การคอร์รัปชัน และความไม่มั่นคงทางอาหาร ปัญหาดังกล่าวได้กดดันต่อกำลังซื้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าครองชีพอยู่ในระดับต่ำ (2) ไนจีเรีย อยู่ที่ร้อยละ 19.3 ลดลงค่อนข้างมากจากร้อยละ 30.9 ในปี 2566 ทั้งนี้ ไนจีเรีย เป็นประเทศกำลังพัฒนา ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างอ่อนแรงลงจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ โควิด-19 การขาดแคลนอาหาร และปัญหาความยากจนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงกดดันให้ค่าครองชีพอยู่ในระดับต่ำ และ (3) ลิเบีย อยู่ที่ร้อยละ 21.2 ลดลงจากร้อยละ 24.2 ในปี 2566 เป็นที่น่าสังเกตว่าลิเบียมีความเปราะบาง ทางการเมือง โดยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยระดับสูงสุด และเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ ซึ่งอาจเป็นผลให้ค่าครองชีพในประเทศอยู่ระดับต่ำ
เมื่อพิจารณาประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทย อยู่ที่ร้อยละ 36.0 สูงเป็นอันดับที่ 5 จาก 9 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ โดยค่าครองชีพของไทยสูงกว่า ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 33.6 อันดับ 104 จาก 146 ประเทศทั่วโลก) เวียดนาม (30.8 อันดับ 113) มาเลเซีย (30.5 อันดับ 115) และอินโดนีเซีย (28.5 อันดับ 126) ขณะที่ค่าครองชีพของไทยต่ำกว่า กัมพูชา (38.5 อันดับ 88) เมียนมา (38.6 อันดับ 87) บรูไน (50.5 อันดับ 48) และ สิงคโปร์ ซึ่งมีค่าครองชีพสูงที่สุดในอาเซียน โดยอยู่ที่ร้อยละ 81.9 สูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ลดลงจากร้อยละ 85.9 ในปี 2566 เป็นที่น่าสังเกตว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเนื้อที่ขนาดเล็ก และมีจำนวนประชากรหนาแน่น ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ ส่งผลให้ค่าครองชีพอยู่ระดับสูง โดยประชากรในสิงคโปร์มีค่าใช้จ่ายรายบุคคลเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1,510.8 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 40,000 บาท)
อย่างไรก็ตาม ระดับค่าครองชีพของไทยเมื่อเทียบกับ 146 ประเทศทั่วโลก ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ สาเหตุสำคัญคาดว่ามาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม) และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมาตรการเพิ่มรายได้ และการขยายโอกาสในการประกอบอาชีพ
ทั้งนี้ แม้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงไทยยังมีโอกาสเติบโตได้ แต่ยังมีปัจจัยท้าทายหลายด้าน ทั้งนโยบายการผลิตและส่งออกของผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญ ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐของไทยที่จะสิ้นสุดลง ซึ่งอาจกระทบให้ค่าครองชีพของไทยเพิ่มสูงขึ้นได้ ดังนั้น ผู้บริโภครวมถึงผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น โดยวางแผนทางการเงินอย่างรัดกุม ประหยัด และพอเพียง สำหรับผู้ประกอบการ ควรพิจารณาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยนำพาธุรกิจให้เติบโตผ่านพ้นปัจจัยท้าทายดังกล่าวได้อย่างมั่นคง.-514-สำนักข่าวไทย