กรุงเทพฯ 24 ก.ค. – ส่งออกไทยเดือน มิ.ย.ขยายตัว 15.5% คาด ก.ค.ชะลอตัวจากภาษีทรัมป์ และเงินบาทแข็งค่า โดยส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวที่ร้อยละ 15.0 เหตุผลหลักผู้นำเข้าสหรัฐฯ เร่งนำเข้าสินค้าจากไทยปิดความเสี่ยงผลกระทบภาษี
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ แถลงการส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2568 มีมูลค่า 28,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (938,533 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ร้อยละ 15.5 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 15.6 การชะลอการใช้มาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ เร่งนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้นเพื่อปิดความเสี่ยงด้านราคาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนเติบโตได้ดี ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล ขณะที่สินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะผลไม้สดและแช่แข็งฟื้นตัวกลับมาได้ดีในเดือนนี้ เช่นเดียวกับ มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ต่างขยายตัวในเดือนนี้ ทั้งนี้ การส่งออกครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวที่ร้อยละ 15.0 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 14.2
“ในเดือน ก.ค.คาดการส่งออกไทยชะลอตัวจากผลกระทบของภาษีสหรัฐ และเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น โดยภาพรวมครึ่งหลังของปีนี้การส่งออกคงจะชะลอตัวเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูว่าการเจรจาภาษีไทย-สหรัฐจะมีข้อสรุปอย่างไร โดยทุกฝ่ายคาดหวังไทยจะมีอัตราภาษีใกล้เคียงกับอาเซียน คือไม่เกิน 20% ลดลงจากที่สหรัฐประกาศจะเก็บจากไทยที่ 36% โดยทั้งปียังคาดการส่งออกไทยขยายตัว 2-3% เมื่อเทียบปีที่แล้ว” นายพูนพงษ์ กล่าว
สำหรับมูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมิถุนายน 2568 การส่งออก มีมูลค่า 28,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 27,588.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.1 ดุลการค้า เกินดุล 1,061.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมการส่งออกครึ่งแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 166,851.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 166,914.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.6 ดุลการค้า ขาดดุล 62.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมิถุนายน 2568 การส่งออก มีมูลค่า 938,533 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 914,880 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.0 ดุลการค้า เกินดุล 23,654 ล้านบาท ภาพรวมการส่งออกครึ่งแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 5,578,959 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 5,651,241 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.6 ดุลการค้า ขาดดุล 72,282 ล้านบาท
การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวดี โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน ที่ได้รับปัจจัยหนุนต่อเนื่องจากการเร่งนำเข้าสินค้าของประเทศคู่ค้าก่อนที่มาตรการภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 19.3 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 41.9 จีน ร้อยละ 23.1 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 11.9 และ CLMV ร้อยละ 9.0 และกลับมาขยายตัวในตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 6.5 และญี่ปุ่น ร้อยละ 3.2 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 20.1 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 14.1 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 17.6 ขณะที่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 14.1 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 4.5 แอฟริกา ร้อยละ 13.7 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 1.6 (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 202.4
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 13.5 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือนโดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 10.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขยายตัวร้อยละ 57.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 15.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้)
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 17.6 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 57.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และไอร์แลนด์) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 23.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเกาหลีใต้) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ขยายตัวร้อยละ 16.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฮ่องกง) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 46.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 8.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี และญี่ปุ่น) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 36.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และสโลวาเกีย) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 15.9 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดแอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาร์เจนตินา อิรัก และตุรกี) เคมีภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 4.3 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดอินเดีย จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สหรัฐฯ ลาว เมียนมา และกัมพูชา) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 14.7 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย เยอรมนี และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฮ่องกง บราซิล แอฟริกาใต้ และไต้หวัน) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 53.5 หดตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย เม็กซิโก และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 19.3. -511- สำนักข่าวไทย