กรุงเทพฯ 15 มี.ค.-เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 35.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 35.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ
น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับภาพรวมสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย สวนทางค่าเงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ขยับขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะดัชนีราคาผู้ผลิตและจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด โดยดัชนีราคาผู้ผลิต +1.6% YoY ในเดือนก.พ. (ตลาดคาดที่ 1.1% YoY) ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ลดลง 1000 ราย มาที่ 209,000 รายในสัปดาห์ก่อน (ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 218,000 ราย)
ทั้งนี้ ตัวเลขสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้ตลาดปรับลดโอกาสความเป็นไปได้ของการลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมิ.ย. ลง ซึ่งสะท้อนว่า เฟดอาจไม่รีบปรับท่าทีมาผ่อนคลายนโยบายการเงินในรอบการประชุมใกล้ๆ นี้
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.60-35.82 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจยิ่งไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย สะท้อนจากการทยอยปรับลดโอกาสเฟดปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน เหลือ 63% (จากเกือบ 75% ในสัปดาห์ก่อนหน้า) ส่งผลเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
หากเงินบาทเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ทองคำและน้ำมันดิบ รวมถึงแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ก็อาจกดดันให้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบแนวต้านสำคัญและเป็นแนวต้านเชิงจิตวิทยาแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์
“เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง”นายพูนกล่าว.-511-สำนักข่าวไทย