กรุงเทพฯ 19 ก.พ.- กรมสรรพสามิต ยิ้มออก ภาษีความหวานทำให้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลลดหลายเท่าตัว มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต เดินหน้าแก้ไขกฎหมายซ้ำซ้อน อำนวยความสะดวกนักลงทุน โชว์รถยนต์ไฟฟ้าโตก้าวกระโดด
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวระหว่างจัดงาน “วันสถาปนากรมสรรพสามิต ครบรอบ 92 ปี” ว่า กรมสรรพสามิต มุ่งดำเนินนโยบาย ESG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ภายในปี 2567 กรมสรรพสามิต เตรียมผลักดันยุทธศาสตร์ EASE Excise อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- ด้านนโยบาย ESG มุ่งเน้นนโยบายภาษีสรรพสามิต ส่งเสริมภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ได้แก่ มาตรการภาษีคาร์บอน (carbon tax) ด้วยการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 มาตรการปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรถยนต์เพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ
- การยกระดับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ทำงานคล่องตัว (Agile ways of working) และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในอนาคต (Future Skills) เช่น AI และ Data Analytics
- การพัฒนากระบวนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้มีมาตรฐาน เช่น การวางมาตรฐานธรรมาภิบาลข้อมูล และวางมาตรฐานการปราบปรามผู้กระทำผิดเชิงรุกกับหน่วยงานปราบปรามที่เกี่ยวข้อง การทบทวนกฏหมายภาษีสรรพสามิตที่บังคับใช้ในปัจจุบันหรือยกเลิกกฎหมายทล้าสมัย เพื่อลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น
- ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการให้บริการแบบไร้รอยต่อ (End-to-end Service) เพื่อให้ประชาชนผู้รับบริการได้รับความสะดวกและเจ้าหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่รวดเร็ว เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีกับการให้บริการของกรมสรรพสามิต
หลังจากในปี 2566 กรมสรรพสามิตออกหลายมาตรการที่สำคัญ ดังนี้
- มาตรการลดภาษีน้ำมันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยยกเว้นภาษีสินค้าน้ำมัน เพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าในช่วงราคาก๊าซธรรมชาติสูงผิดปกติอันเป็นผลมาจากสงครามรัสเซียและยูเครน ในปี 2566 กรมสรรพสามิตต้อง สูญเสียรายได้กว่าแสนล้านบาท เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน
- มาตรการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานในอัตราก้าวหน้าตามปริมาณน้ำตาล ส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องดื่ม ในพิกัดภาษีสรรพสามิตปรับลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลงอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ได้ลดปริมาณการผลิตลงเหลือเพียง 46 ล้านลิตร ในปี 2566 จาก 819 ล้านลิตรในปี 2561 ส่งผลให้ประชาชนบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยลง ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานและโรคที่เกี่ยวข้อง
- มาตรการสรรพสามิต สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Zero Emission Vehicle: ZEV) ตามมาตรการ EV 3.0 ส่งผลให้ในปี 2566 ประเทศไทยมีการจดทะเบียนรถยนต์ ZEV จำนวน 76,739 คัน เติบโตจากปี 2565 ถึงร้อยละ 646 นับว่าขยายตัวสูงสุดในอาเซียน ในขณะที่ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 21,677 คัน เติบโตจากปี 2565 ถึงร้อยละ 125 จากเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนดให้ผู้ประกอบการ เข้าร่วมโครงการต้องผลิตรถยนต์ EV ในไทยชดเชยและมาตรการส่งเสริมการลงทุนทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท
- การจัดตั้งศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์เพื่อปราบปรามผู้กระทำผิดที่หลบเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิต โดยในปี 2566 ผลการปราบปรามคดีทั่วประเทศ 26,056 คดี สูงกว่าเป้าหมาย 7,531 คดี หรือ คิดเป็นร้อยละ 40.7
- นำแนวคิดกระบวนการออกแบบเชิงระบบ (design thinking) และ User Experience (UX) มายกระดับการให้บริการทางดิจิทัลของกรมสรรพสามิตเพื่อให้ผู้เสียภาษี ปัจจุบันมีผู้เสียภาษีถึงร้อยละ 96 ของผู้เสียภาษีสรรพสามิตทั้งหมดได้ ชำระภาษีผ่านทางระบบ e-service ส่งผลให้กรมสรรพสามิตได้รับรางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ (Super เลิศรัฐ) และรางวัลผู้นำองค์กรภาครัฐดิจิทัลดีเด่น ประจำปี 2566.- 515 สำนักข่าวไทย