กรุงเทพฯ 18 ม.ค.- Krungthai COMPASS ชี้มาตราการ EV 3.0 เริ่มเดินเครื่อง ดันยอดผลิตรถยนต์ไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดต่อเนื่อง
Krungthai COMPASS เผยแพร่บทวิเคราะห์ เรื่อง “มาตราการ EV 3.0 เริ่มเดินเครื่อง ดันยอดผลิตรถยนต์ไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง” ระบุอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว จากวิกฤติโควิดและปัญหา Supply Chain โดยคาดว่าในปี 2567 ยอดการผลิตรถยนต์ของไทยจะขยายตัว 4.8%YoY ไปแตะที่ระดับ 1.97 ล้านคัน กลับมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2562) ที่มียอดการผลิตอยู่ที่ 2.01 ล้านคัน โดยมองว่า 2 ปัจจัยหนุนหลักที่ทำให้ยอดการผลิตรถยนต์ของไทยปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
1.ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ที่เข้าร่วมมาตรการ EV 3.0 จะเริ่มเดินสายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เบื้องต้น ประเมินว่า ผลของมาตรการ EV 3.0 จะช่วยหนุนยอดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราว 5-7 หมื่นคัน หรือคิดเป็น 3-4% ของยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2567 ซึ่ง Upside ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 ครม. ได้มีมติอนุมัติมาตรการ EV 3.5 ที่บังคับใช้ในช่วงปี 2567-2570 เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อยอดการผลิตรถยนต์ในระยะข้างหน้า
2.ความต้องการรถยนต์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และความต้องการใช้รถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ที่คาดว่าจะยังครองตลาดโลกไปอีกราว 6-7 ปี โดยคาดว่า ยอดการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกของไทยในปี 2567 มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นไปแตะที่ระดับ 1.13-1.16 ล้านคัน หรือขยายตัวราว 4-8%YoY ตามยอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออกรถยนต์ของไทยยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องในปี 2567 โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชีย (ไม่รวมจีน) และตะวันออกกลาง ที่ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 50% ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์ในปี 2565
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ยอดการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศปี 2567 จะอยู่ในระดับทรงตัวที่จำนวน 0.805 ล้านคัน โดยมีแนวโน้มถูกกดดันจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่มีแนวโน้มเข้มงวดต่อเนื่องจากมาตรการของ ธปท. หลังสัดส่วนหนี้ครันเรือนยังสูงถึง 90.7% ต่อ GDP ส่งผลให้ ธปท. เร่งออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน อาทิ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่บังคับใช้เมื่อ 1 ม.ค. 2567 ซึ่งกำหนดให้สถาบันการเงินต้องไม่กระตุ้นให้ผู้บริโภคก่อหนี้เกินตัว รวมทั้งต้องประเมิน Affordability ของลูกหนี้ให้ครอบคลุมภาระหนี้ และมีเงินเหลือสุทธิ (Residual income) หลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ เพียงพอต่อการดำรงชีพ อาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อยอดจำหน่ายรถยนต์ และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงภาพรวมยอดผลิตรถยนต์ปี 2567
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับความท้าทายซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จากปัจจัยเสี่ยงในด้าน 1.มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่มีแนวโน้มเข้มงวดต่อเนื่อง 2.ความเสี่ยงในการเปลี่ยนผ่าน(Transition Risk) จากความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3. แนวนโยบายการห้ามขายรถยนต์สันดาปภายในของหลายประเทศ และ 4.ภาวะสงครามอิสราเอล-ฮามาส.-516-สำนักข่าวไทย