กรุงเทพฯ 26 พ.ย. – ธ.ก.ส.เดินหน้า 2 มาตรการพยุงราคาข้าว เสริมสภาพคล่องเกษตรกร วงเงินรวมกว่า 44,000 ล้านบาท
ธ.ก.ส. พร้อมขับเคลื่อนมาตรการพยุงราคาข้าว ปีการผลิต 2566/67 ตามมติ ครม. เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในการชะลอการขายข้าวเปลือกออกสู่ตลาด และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวผ่านสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินรวมกว่า 34,000 ล้านบาท โดยรัฐรับภาระชำระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% พร้อมสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกอีก 1,500 บาท/ตัน เกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 4.68 ล้านครัวเรือน รองรับปริมาณข้าวเปลือกรวม 4 ล้านตัน
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ฤดูการผลิตปี 2566/67 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. จัดสินเชื่อดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2 โครงการ วงเงินรวมกว่า 44,000 ล้านบาท ได้แก่ 1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 34,437 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ เป้าหมายเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 4.68 ครัวเรือน และดูดซับปริมาณข้าวเปลือกจากท้องตลาด 3 ล้านตัน โดยมีชนิดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว
สำหรับข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นข้าวเปลือกที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 และสีได้ต้นข้าวไม่ต่ำกว่า 20 กรัม โดยในส่วนข้าวหอมมะลิจะมีเมล็ดข้าวแดงได้ไม่เกินร้อยละ 0.5 (ไม่เกิน 22 เมล็ดใน 100 กรัม) กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด 11,400-12,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด 9,900-10,500 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 9,000 บาท/ตัน ข้าวหอมปทุมธานี 10,000 บาท/ตัน และข้าวเหนียว 10,000 บาท/ตัน โดยเกษตรกรกู้ได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรและชุมนุมสหกรณ์การเกษตร แห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกร แห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชน แห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท กรณีชำระคืนภายใน 5 เดือน โดยรัฐบาลรับภาระในการชำระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกให้เกษตรกรอีก 1,500 บาท/ตัน กรณีเกษตรกรเก็บข้าวเอง ได้รับ 1,500 บาท/ตัน กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาท/ตัน และสถาบันฯ จะได้รับ 1,000 บาท/ตัน ระยะเวลาจัดทำสัญญาตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 กรณีภาคใต้ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 จนถึง 31 กรกฎาคม 2567 สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อย สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีได้ โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
และ 2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เป้าหมายรวบรวมปริมาณข้าวเปลือก 1 ล้านตัน โดยสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก และเกษตรกรทั่วไป ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนด สามารถขอสนับสนุนสินเชื่อ ดังนี้ สหกรณ์การเกษตร/ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร แห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกร แห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชน แห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งสถาบันฯ ชำระดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับภาระชำระแทน ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 กันยายน 2567 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ Call Center 02 555 0555
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ขอเชิญชวนมาร่วมออมเงินกับสลาก ธ.ก.ส. ชุดถุงทอง ฝากเพียงหน่วยละ 2,000 บาท ได้ลุ้นรางวัลถึง 60 ล้านบาท และรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่าสูงสุดต่องวด 77,650,000 บาท ถึง 24 ครั้ง อายุรับฝาก 2 ปี ครบกำหนดรับดอกเบี้ย หน่วยละ 35 บาท ผู้โชคดีคนต่อไปอาจเป็นคุณ!. – สำนักข่าวไทย