อสมท 3 ต.ค.-อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แนะรัฐสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน ป้องกันเงินไหลออก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อน เงินหยวนอ่อน น้ำมัน ทองปรับตัวลดลง นั่นหมายความว่าในตลาดโลกมองว่า ดอลลาร์สหรัฐ คือ สินทรัพย์ที่มีความเข้มแข็งที่สุด เนื่องจากสหรัฐมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต้านเงินเฟ้ออีกครั้งในเดือน พ.ย. ซึ่งตลาดคาดว่าสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจาก 5.25% เป็น 5.50-5.75% อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยสูง แต่เศรษฐกิจกลับโตได้เพียง 2% การว่างงานไม่สูง ทั้งนี้ เนื่องจากมีสัญญาณ Government Shutdowns อยู่ แม้ว่าสภาคองเกรสจะอนุมัติให้รัฐบาลใช้งบประมาณชั่วคราว ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้มีความเข้มแข็ง ยังมีความเปราะบางอยู่ ดังนั้น การที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งก็น่าจะมาจากเศรษฐกิจประเทศชั้นนำอื่นๆ ของโลกไม่เด่น
ขณะที่ปัญหาของประเทศไทย คือ ค่าเงินอ่อนเร็ว โดยก่อนที่ไทยจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดในวันที่ 27 ก.ย. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ค่าเงินบาทอยู่ที่ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ พอวันที่ 27 เงินบาทก็อ่อนลงไปที่ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นเหตุผลให้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลออก แต่หลังจากปรับดอกเบี้ยแล้ว ค่าเงินบาทยังอ่อนลงอีก ขณะนี้อยู่ที่ 37.1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ปัญหาน่าจะเกิดจากความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจไทย และล่าสุดธนาคารโลกปรับเศรษฐกิจไทยโตจาก 3.9 เหลือ 3.4 จึงทำให้นักลงทุนพักการลงทุนในไทยชั่วคราว ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องตลาดตราสารหนี้ มีการผิดนัดชำระหนี้มานานตั้งแต่ปัญหา Stark และมีหลายบริษัทเริ่มผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น ตลาดตราสารหนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไม่มั่นใจในเสถียรภาพตลาดการเงินไทย ล่าสุดแม้จะมีภาพนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าแบงก์ชาติ หารือกันอย่างชื่นมื่น แต่จากข่าวลือจะมีการสั่งปลดผู้ว่าแบงก์ชาติที่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่สามารถคลายความไม่เชื่อมั่นได้
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าเงินบาทจะไปอยู่ที่เท่าไหร่ ต้องดูว่าจะมีการแทรกแซงโดยแบงก์ชาติหรือไม่ และบาทจะหลุดจาก 37.5 บาท/ดอลลาร์ฯ หรือไม่ เพราะเพียง 2 สัปดาห์ บาทปรับจาก 36 เป็น 37.1 บาท/ดอลลาร์ฯ ถือว่าเร็วมาก ดังนั้นต้องดูว่า จุดยับยั้งที่ 37.5 บาท/ดอลลาร์ฯ จะยับยั้งได้หรือไม่ และจะหลุดเร็วหรือไม่ หากหลุดเร็วก็จะไปอยู่ที่ 38 บาท/ดอลลาร์ฯ แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลาง มาตรการวีซ่าฟรี ประกอบกับภาคส่งออกปรับตัวดีขึ้น จะทำให้มีเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามา ดังนั้น บัญชีเดินสะพัดของไทยน่าจะเกินดุล ซึ่งอาจจะคุ้มจากเงินทุนไหลออก ดังนั้น จากข้อมูลต่างๆ ในขณะนี้จึงบอกได้ว่า ยังไม่มีเหตุผลที่บาทจะอ่อนลงไปถึง 38 บาท/ดอลลาร์ฯ ซึ่งในระยะสั้นกรอบของการแกว่งว่างตัวน่าจะอยู่ที่ 37.00-37.5 บาท/ดอลลาร์
บาทอ่อนส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบกับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ถือว่าโชคดีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ได้แพงขึ้น ยังแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และรัฐบาลก็พยายามตรึงราคาดีเซล ก็จะส่งผลให้คนไทยสามารถควบคุมค่าครองชีพได้ ค่าขนส่งก็จะไม่แพงมาก ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็พยายามขอความร่วมมือเอกชนควบคุมราคาสินค้า จึงไม่น่ามีผลต่อค่าครองชีพ
อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินไทยยังมีความเข้มแข็งอยู่ในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าไม่ควรให้มีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอีก เพราะนานาชาติมองว่า เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ที่วงเงินสูง ก็ทำให้ขาดความมั่นใจ เกรงว่าจะล้มเป็นโดมิโน เช่นเดียวกับกรณีเอเวอร์แกรนด์ของจีน ดังนั้น ภาครัฐควรเข้ามาดูความมั่นคงของตลาดตราสารหนี้ไทย และประชาสัมพํนธ์ข้อมูลข่าวสาร หากประคองสถานการณ์และพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้เร็ว เงินบาทก็จะกลับมาแกว่งตัวในกรอบที่เข้มแข็งเหมือนเดิม.-สำนักข่าวไทย