กรุงเทพฯ 27 ก.ย. – SCB EIC ปรับลดประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าไทยปี 2566 เหลือ -1.5% แม้มูลค่าส่งออกเดือน ส.ค.66 ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 11 เดือน คาดปี 2567 ส่งออกไทยพลิกกลับมาขยายตัวได้ 3.5% จากเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง ปัญหาห่วงโซ่อุปทานคลี่คลาย แนวโน้มน้ำมัน-สินค้าเกษตรราคาขยับขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่ามูลค่าส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ส.ค. 2566 อยู่ที่ 24,279.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวได้ 2.6%YOY หลังจากหดตัวต่อเนื่องรุนแรง และนับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ภาพรวมของปี 2566 มูลค่าส่งออก 8 เดือนแรก อยู่ที่ 187,593.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -4.5% โดยการส่งออกเดือน ส.ค. นี้กลับมาขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก (1) ราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้น (2) ปัจจัยฐานสูงเริ่มลดลง และ (3) ปัจจัยพิเศษจากการส่งสินค้ากลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษจากไทยไปสหรัฐฯ ซึ่ง SCB EIC ประเมินเบื้องต้นว่ายานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษดังกล่าวนี้เป็นอุปกรณ์ในการซ้อมรบ ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยสูงกว่าปกติราว 2.9 percentage point อย่างไรก็ดี หากหักผลกระทบจากการส่งออกสินค้าที่ไม่สะท้อนสภาวะส่งออกของไทยอย่างแท้จริง ได้แก่ ทองคำ อาวุธ และยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษ พบว่าการส่งออกของไทยยังขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.7% แต่หากหักผลฤดูกาลแล้วพบว่าการส่งออกขยายตัวมากถึง 5.4%MOM_sa เทียบเดือนก่อน สะท้อนแนวโน้มการขยายตัวที่ดีในเดือนนี้ แม้ไม่รวมแรงหนุนปัจจัยชั่วคราวและปัจจัยทางเทคนิค
ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าในเดือน ส.ค. ปรับดีขึ้นในหลายกลุ่มสินค้า (1) สินค้าเกษตรพลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ 4.2% โดยผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งและข้าวเป็นสองกลุ่มสินค้าเกษตรที่ส่งออกดีส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ที่ 6.6% จากผลกระทบของสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงนโยบายห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย (2) สินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว 2.5% ได้หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ส่วนหนึ่งจากการเคลื่อนย้ายสินค้ากลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษออกจากประเทศ นอกจากปัจจัยพิเศษนี้ การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบเป็นสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกที่ขยายตัวดีในเดือนนี้ (3) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงกลับมาขยายตัว 22.2% หลังจากหดตัวรุนแรงก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่หดตัวในอัตราชะลอลง ขณะที่ (4) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรยังหดตัวต่อเนื่องที่-7.6% ปรับดีขึ้นจาก -11.8% ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยที่ 2.5%
การส่งออกกลับมาขยายตัวได้ในหลายตลาดสำคัญ รวมถึงจีน ที่แม้ยังผันผวน แต่ยังขยายตัวได้ 1.9% ในเดือนนี้จากการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งที่ขยายตัวมากถึง 119.5% ด้านดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อยจากปัจจัยพิเศษการเคลื่อนย้ายสินค้าในกลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษจากไทยไปยังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามการส่งออกจะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามลำดับ และขยายตัวชัดเจนในช่วงท้ายปีจากเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 และปัจจัยฐานต่ำ ประกอบกับมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยราคาสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ดี การขยายตัวช่วงท้ายปีจะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 7 เดือนแรกของปีได้ ดังนั้น SCB EIC จึงปรับมุมมองประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2566 เป็นหดตัว -1.5% (USD BOP) ลดจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.5%
ส่วน ปี 2567 การส่งออกไทยมีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัวได้ 3.5% จากปริมาณการค้าโลกในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าปี 2566 รวมถึงเศรษฐกิจโลกปี 2567 คาดว่าขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงปี 2566 ที่ 2.3% โดยเฉพาะภาคการผลิตที่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นจากปีนี้, ปัญหาห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงและต้นทุนการขนส่งสินค้าลดลงกลับสู่ระดับปกติ, ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากเศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงปีนี้ประกอบกับกลุ่ม OPEC+ ขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับสูงขึ้น และนโยบายการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรจากบางประเทศที่จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น เช่นนโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดียที่มีส่วนผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกของไทยยังมีปัจจัยกดดัน ได้แก่ นโยบายการเงินตึงตัวมากกว่าคาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทำให้เศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอลง, เศรษฐกิจจีนขยายตัวแผ่วลง ส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจใช้เวลาฟื้นตัว จะกระทบสินค้าส่งออกบางชนิดของไทยที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และเป็นส่วนหนึ่งของ Supply chain จีน โดยเฉพาะยางพารา ไม้ยางพารา ปิโตรเคมี คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และชิ้นส่วนรถยนต์ และภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยปริมาณฝนในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 41 ปีในหลายพื้นที่ของไทยส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเกษตรของไทยลดลงในหลายกลุ่มจากปริมาณผลผลิตที่เสียหาย โดยเฉพาะข้าวอ้อย และน้ำมันปาล์ม.-สำนักข่าวไทย