กรุงเทพฯ 22 ก.ย.- “รัฐมนตรีดีอี” เดินหน้าสร้างการรับรู้เท่าทันข่าวปลอม มุ่งปราบเชิงรุกด้วย AI – Cyber Vaccine พุ่งเป้าเยาวชน หวังสร้างวัฒนธรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ ก่อนแชร์ต่อในโลกออนไลน์ ประสานกลาโหมกวาดล้าง เสาสัญญาณเถื่อนตามแนวชายแดน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการจัดการข้อมูลที่เป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะข่าวปลอมที่สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายกับประชาชนและสาธารณชนในวงกว้าง ซึ่งปัจจุบันการหลอกลวงทางออนไลน์ และรวมถึงปัญหา Call Center ปรับเปลี่ยนรูปแบบต่อเนื่อง จึงต้องเร่งรัดใช้เทคโนโลยีป้องกันปราบปรามการหลอกลวงออนไลน์ และ Central Fraud Registry จะตรงกับแผนงานนโยบายที่ได้มอบให้กระทรวง DE ดำเนินการ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน มีเครือข่ายผู้ประสานงานร่วมตรวจสอบกว่า 300 หน่วยงาน โดยตั้งแต่เปิดศูนย์จนถึงปัจจุบัน ได้รับการแจ้งเบาะแสจากประชาชนมากกว่า 1,085,707,543 ข้อความ โดยมีข่าวที่เข้าข่ายการตรวจสอบ 49,725 ต้นโพสต์ และทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ทำการเผยแพร่ข่าว 6,390 เรื่อง
สำหรับระยะต่อไปของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจะต้องเร่งดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- การตั้ง Task Force Command Center เพื่อปราบปรามเชิงรุก รับมือกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ การหลอกลวงทางการเงิน และภัยออนไลน์ ที่ทําให้ประชาชนถูกหลอกลวงจํานวนมาก
- การนำเอาเทคโนโลยี Data Analytics และ AI มาใช้เพื่อเพิ่มความโปร่งใส เป็นกลาง และเป็นข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชน ในการตรวจสอบและกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ให้มีความรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ และสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้แชร์ข่าวปลอม เป็นลักษณะ AFNC AI เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ Link ข่าวผ่านเว็บไซต์ AFNC ได้ ว่า ตรง/ไม่ตรง ตามฐานข้อมูลที่มีอยู่ใน 4 ปี ระบบสามารถแสดงผลการตรวจสอบได้ว่าที่ส่งมานั้น ตรงกับฐานข้อมูลกี่เปอร์เซนต์ เช่น จาก Link ที่ส่งมาตรงกับฐานข้อมูลข่าวปลอม 70% โดยแสดงผลแบบ Highlight ว่า Wording ส่วนไหนบ้างที่ตรง ส่วนไหนที่ไม่ตรง และจะ เรียกว่าเป็น AFNC Search AI
- การสร้าง Cyber Vaccine สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มถูกหลอกลวงสูง ได้แก่ กลุ่มเด็กเยาวชน นักเรียนนักศึกษา ผู้สูงอายุ เพื่อเร่งสร้างความตระหนักรู้ รู้เท่าทัน ให้สามารถเป็นผู้ช่วยเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และป้องกันข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จต่าง ๆ แก่คนรอบตัว และช่วยสร้างวัฒนธรรมการรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณก่อนจะเผยแพร่หรือส่งต่อในอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้มีขอความร่วมมือกระทรวงกลาโหมในการกวาดล้าง เสาสัญญาณเถื่อนตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของการดำเนินการเชิงรุกของกระทรวง เพราะเห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องทำให้ประชาชนไม่ถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย
“ในปีนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้มุ่งเน้นกิจกรรมให้เด็กและเยาวชน (อายุระหว่าง 13 – 18 ปี) ให้มีส่วนร่วม โดยจัดกิจกรรมประกวดการผลิตคลิปวิดีโอสั้น TikTok ภายใต้หัวข้อ “รู้ทัน Fake News” รางวัลมูลค่ารวมกว่า 100,000 บาท และเพื่อเสริมสร้างการรับรู้เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอมในโรงเรียน ได้มีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนมีส่วนร่วม ผ่านการเล่นเกมส์แบบต่างๆ และมีการจัดให้ความรู้เพื่อรู้เท่าทันข่าวปลอม ซึ่ง ทุกโรงเรียนให้ความสนในในกิจกรรมที่ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจัดขึ้น อีกทั้งช่วยทำให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมในการรับมือกับข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น” นายประเสริฐ กล่าว
สำหรับกระบวนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีการใช้เทคโนโลยีระบบ Social Listening Tool ในการรวบรวมข้อมูล เพื่อแจ้งเตือนข่าวปลอมใน 4 หมวดหมู่ข่าว ประกอบด้วย 1) ข่าวกลุมภัยพิบัติ 2) ข่าวกลุ่มเศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร หุ้น 3) ข่าวกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ และ4) ข่าวกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคมขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ รวมถึงรับแจ้งเบาะแสข่าวปลอมจากประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง-สำนักข่าวไทย