กรุงเทพฯ 8 ส.ค.-กกพ. ยันลดค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีเป็นไปไม่ได้ ต้องรอรัฐบาลใหม่ ด้านกฟผ. ยอมรับหากลดค่าเอฟทีมากกว่านี้ ต้องขยายเวลาชำระหนี้ จะส่งผลต่อกระแสเงินสดและเครดิตเรตติ้ง ขณะที่ค่าไฟฟ้าปีหน้าอาจสูงขึ้นจากปัจจัยลบรอบด้าน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. ชี้แจงกรณีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ขอให้รัฐบาลปรับลดอัตราค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี(กันยายน-ธันวาคม) ลงมาเป็น 4.25 บาท เนื่องจากเห็นว่า มติ กกพ. ล่าสุดที่เห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงจาก 4.70 บาท มาเป็น 4.45 บาทต่อหน่วยโดยให้มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายนนั้น ยังสูงไปทั้งๆที่ต้นทุนต่างๆลดลงแล้ว และเห็นว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยควรจะอยู่ที่4.20 สตางค์
นายคมกฤช เปิดเผยว่า การปรับลดค่าไฟฟ้าในช่วงงวดสุดท้ายของปีนี้ (กันยายน-ธันวาคม) เป็นเรื่องยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการคำนวนค่าไฟฟ้า เป็นการคิดตามสูตรคำนวนผันแปรงวดสุดท้าย ซึ่งอิงจากสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิง ทั้งก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ปริมาณก๊าซในอ่าวไทย และสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) ที่ยังเหลือหนี้จากการแบกรับค่าเอฟทีปีที่แล้วอยู่ 1.1 แสนล้านบาท ซึ่ง กฟผ.เองก็บอกว่าสามารถบริหารหนี้ได้เพียง 5 งวดเท่านั้น จึงเสนอลดค่าไฟฟ้าในงวดสุดท้ายของปีที่ 25 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากต้องการให้ลดค่าไฟฟ้าเหลือ 4.25 บาทต่อหน่วยตามที่ กกร.เสนอ (ลดค่าเอฟทีลงอีก 20 สตางค์) จะต้องใช้งบประมาณจากนอกระบบเข้ามา เช่น เงินอุดหนุนจากรัฐบาลโดยตรง เนื่องจาก กกพ. ไม่มีงบประมาณเพียงพอ ซึ่งประเมินว่าการลดค่าไฟฟ้าลง 1 สตางค์ต้องใช้งบประมาณราว 600 ล้านบาท หากจะลดค่าไฟ 20 สตางค์ ต้องใช้งบประมาณราว 12,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องรอรัฐบาลใหม่ และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา
ส่วนแนวโน้มค่าไฟฟ้าปีหน้า ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบอีกหลายปัจจัย ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ ราคา LNG ปริมาณก๊าซในอ่าวไทย ปริมาณการใช้ก๊าซของโรงแยกก๊าซที่จะเพิ่มขึ้นส่งผลให้ก๊าซในภาคไฟฟ้าลดลง และที่สำคัญคือก๊าซในพม่าที่อาจจะหายไป นอกจากนี้ยังมีภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนของสปป.ลาว ลดน้อยลง ส่งผลให้ผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง ประกอบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในบ้านเราที่ต้องปลดระวาง ซึ่งอาจจะทำให้การผลิตไฟฟ้าต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ขณะที่ราคา LNG ปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยลบเหล่านี้อาจจะดันให้ค่าไฟฟ้าในปีหน้าสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยบวกจากก๊าซแหล่งเอราวัณ ที่ปตท.สผ. แจ้งว่าจะกลับมาผลิตได้ปริมาณ 800 ลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงกลางปี 2567 จากที่ขณะนี้ผลิตได้ที่ 400 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากผลิตได้ตามคาดการณ์ประเทศไทยก็อาจจะนำเข้า LNG ลดลง และจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย หรืออีกแนวทางหนึ่งก็คือ การหาแหล่งก๊าซแหล่งใหม่ในอ่าวไทยเพื่อผลิตก๊าซเพิ่มเติม
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.)ยอมรับว่าไม่สามารถขยาดระยะเวลาชำระจากการแบกรับค่า เอฟที ตั้งแต่ปี 2564 ที่ยังเหลืออยู่อีก 110,000 ล้านบาท ออกไปอีกได้ เนื่องจากจะส่งกระทบต่อกระแสเงินสดหรือสภาพคล่องของ กฟผ.และจะส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรทติ้ง) ของกฟผ. ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการลงทุนในอนาคตสูงขึ้น ปัจจุบัน กฟผ.ได้บริหารกระแสเงินสดและสภาพคล่องทางการเงินดังกล่าวโดย 1.ใช้เงินกู้เพื่อบริหารสภาพคล่อง รวม 110,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เดือนพฤษภาคม 2565 จำนวน 25,000 ล้านบาทและ เงินกู้เพื่อบริหารภาระค่าเอฟที (กระทรวงการคลังค้ำประกัน) จำนวน 85,000 ล้านบาท 2.ใช้วงเงินกู้ระยะสั้น (Credit Line) สูงสุด จำนวน 30,000 ล้านบาท และ3.เลื่อนจ่ายเงินนำส่งรัฐ โดย กฟผ. มีภาระในการคืนเงินต้นเงินกู้เสริมสภาพคล่องซึ่งจะเริ่มมีการชำระยอดแรกในปี2567 แต่ปัจจุบัน กฟผ. ได้เริ่มชำระดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้น หาก กฟผ. ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดจนต้องมีการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปจะส่งผลกระทบดังที่กล่าวมา.-สำนักข่าวไทย