นนทบุรี 17 ก.ค.-รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เร่งขับเคลื่อนช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง พร้อมติดตามการรวบรวมและกระจายกุ้ง จ.นครศรีธรรมราช หวังให้ราคากุ้งโดยรวมกลับมาดีขึ้น
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวภายหลังลงพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช เพื่อติดตามจุดรวบรวมและกระจายกุ้งภายใต้โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2566 ของกรมการค้าภายใน โดยได้ร่วมกับนายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และพาณิชย์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ประมงจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อตรวจเยี่ยมจุดรวบรวม กระจายกุ้ง ฯ ณ สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด และได้หารือสถานการณ์การผลิต การจับกุ้งของเกษตรกร ณ พื้นที่อำเภอปากพนัง จ.นครศรีธรรมราชเพื่อช่วยหาทางให้ราคากุ้งไม่ตกต่ำไปมากนัก
ทั้งนี้ ช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ราคากุ้งปรับตัวลดลงอย่างมากจากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามกรมการค้าภายในและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้จัดกิจกรรมและโครงการเพื่อกระตุ้นการบริโภคกุ้งภายในประเทศ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 คณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) เห็นชอบให้กรมการค้าภายในดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2566 เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงการจำหน่ายกุ้งภายในประเทศ เป้าหมาย 5,000 ตัน
อย่างไรก็ตาม จ.นครศรีธรรมราช เป็นแหล่งผลิตกุ้งขาวแวนนาไมแหล่งใหญ่ของไทย และมีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมากที่สุดของภาคใต้ มีเกษตรกรแจ้งประกอบกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล (จสค.) ที่มีการเลี้ยงจริง ณ ปัจจุบัน 978 ราย โดยจ.นครศรีธรรมราชได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมการค้าภายในเพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2566 จำนวน 17.7 ล้านบาท และเป็นจังหวัดแรกที่เปิดรับสมัครผู้รวบรวมและกระจายกุ้งที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) กำหนด โดยมีเกษตรกรเข้าร่วม 397 ราย กำหนดซื้อขายกุ้งระหว่าง 10 ก.ค.-30 ก.ย.66 ซึ่ง ปัจจุบัน จ.นครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการเชื่อมโยงให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งแล้ว 85 ราย จำนวนกุ้งรวมทั้งสิ้น 150 ตัน
นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน ได้จัดสรรงบประมาณ ให้จังหวัดแหล่งผลิตกุ้งที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณผ่านคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) รวมทั้งสิ้น 23 จังหวัดโดยได้รับจัดสรรงบประมาณตามสัดส่วนจำนวนเกษตรกรที่จดทะเบียนสถานประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ประเภทการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล (จสค.) ที่เข้าใช้งานระบบ APD เพื่อจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายกุ้งทะเล(Active farm) ของกรมประมง ในขณะนี้มีจังหวัดแหล่งผลิตกุ้งที่ดำเนินการโครงการฯแล้ว 14 จังหวัด สำหรับจังหวัดที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ โดยพิจารณาจากช่วงเวลาเหมาะสมในการจับกุ้งของแต่ละจังหวัด คาดว่าจะทยอยดำเนินการได้ในสัปดาห์หน้า กรมการค้าภายในจะกำกับดูแลการดำเนินการตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2566 ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหลายแห่ง ได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการเชื่อมโยงและเปิดจุดจำหน่ายให้เกษตรกร เพื่อเป็นช่องทางสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด เช่น จังหวัดชุมพร เปิดจุดจำหน่ายให้เกษตรกร ทุกวันศุกร์ จังหวัดอยุธยาเชื่อมโยงกุ้งร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา ชลบุรีเปิดรับออร์เดอร์สั่งซื้อกุ้งจากหน่วยงานต่างๆให้เกษตรกรอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย