กรุงเทพฯ 13 ก.ค.- เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์ เป็นฟองละ 4 บาท มีผลตั้งแต่ 14 ก.ค. สอดคล้องกับการประเมินต้นทุนการผลิตของ Egg Board ก่อนหน้านี้ที่พบว่า ต้นทุนสูงขึ้น 17.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 พร้อมเสนอให้พิจารณาลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง เพื่อช่วยเหลือด้านต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่
เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัดสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด ประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์ต่อฟองหรือ 6 บาทต่อแผง จากเดิม 3.80 บาท เป็น 4.00 บาทต่อฟอง มีผลตั้งแต่วันที่14 มกราคม 2566 เป็นต้นไปหรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับการปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเป็น 4.00 บาทต่อฟองครั้งนี้ เป็นการปรับหลังจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงตรึงราคาอยู่นาน จากที่ปรับขึ้นครั้งก่อนหน้าเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 จาก 3.60 บาทต่อฟองเป็น 3.80 บาท ต่อมามีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นหลายครั้งเนื่องจากประสบปัญหาด้านต้นทุน แต่ตรึงราคาไว้เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค
ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้ประชุมเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งที่ประชุมได้ประเมินต้นทุนการผลิตไข่ไก่ในไตรมาส 2/2566 เฉลี่ยฟองละ 3.70 บาท สูงขึ้นจากไตรมาส 1/2566 ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ยฟองละ 3.67 บาท เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 พบว่า สูงขึ้นร้อยละ 17.46 เนื่องจากค่าพันธุ์สัตว์ ราคาอาหารสัตว์ วัคซีน ยาป้องกันโรค ค่าน้ำ และค่าไฟปรับตัวสูงขึ้น
ที่ประชุม Egg Board ยังได้ติดตามสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี กากถั่วเหลืองนำเข้า ราคาวัตถุดิบทดแทน (ปลายข้าวและมันเส้น) และปลาป่น นอกจากนี้ Egg Board ยังมอบหมายให้กรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ เสนอข้อคิดเห็นของ Egg Board ไปยังกรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายอาหารและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช โดย Egg Board เห็นควรปรับลดภาษีกากถั่วเหลืองเหลือง ร้อยละ 0 เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร รวมทั้งเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ
สำหรับสถานการณ์ไก่ไข่ปัจจุบัน มีจำนวนไก่ไข่ยืนกรง 52.08 ล้านตัว ประมาณการผลผลิต 43.21 ล้านฟองต่อวัน มีแผนการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) ในปี 2566 จำนวน 3,800 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 1,970 ตัว คิดเป็น 50.90 % ส่วนแผนการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ปี 2566 จำนวน 440,000 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 147,746 ตัว คิดเป็น 33.58% .-สำนักข่าวไทย