กรุงเทพฯ 11 ก.ค.-ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงจีดีพีปี 66 อยู่ที่ 3.7% ชี้ จีดีพีครึ่งปีหลังโต 4.3% จับตาความไม่แน่นอนทางการเมือง-เศรษฐกิจจีน-ภัยแล้ง ปัจจัยเสี่ยงฉุดความเชื่อมั่น-การลงทุน
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้คงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.7% โดยเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 4.3% จากครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 3.0% ซึ่งอานิสงส์การเติบโตยังมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวคาดจำนวนอยู่ที่ 28.5 ล้านคนและการบริโภคเอกชนที่ปรับดีขึ้นจาก 3.3% เป็น 3.8% โดยในไตรมาสที่1/2566 ตัวเลขจริงขยายตัวกว่า 5% จากการใช้จ่ายที่ขยายตัวได้ตามภาคการท่องเที่ยวและ มองไปข้างหน้าคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3% เนื่องจากมีประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ยังทยอยปรับขึ้น และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและคุมเข้มมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะออกมาทันหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นกดดันการบริโภค
โจทย์ที่ยังต้องจับตามอง และมีผลต่อเศรษฐกิจไทย จะเป็นประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีความล่าช้าออกไป และยังเป็นรัฐบาลรักษาการต่อไปถึงไตรมาสที่ 3/2566 จะเริ่มส่งผลกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน และจากความไม่แน่นอนดังกล่าว ศูนย์วิจัยฯ จึงปรับประมาณการลงทุนเอกชนลดลงจาก 2.8% มาอยู่ที่2.0%”นางสาวณัฐพรกล่าว
นอกจากนี้ยังต้องติดตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจของจีน ซึ่งอาจมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยผ่านตัวเลขนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามาจำนวน 5 ล้านคน อาจจะไม่ถึงและภาคการส่งออกของไทยไปจีนที่มีสัดส่วนประมาณ 12% เป็นอันดับ 2 ของการส่งออกทั้งหมด อาจจะชะลอตัว โดยปีนี้คาดว่าการส่งออกไทยไปจีนจะเติบโตอยู่ที่ 3.4% และมองการเติบโตภาคการส่งออกทั้งปี 2566 อยู่ที่ -1.2% จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ตัวเลขจีดีพี 3.7% ยังไม่รวมปัจจัยการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งต้องรอดูผลการโหวตนายกฯ แต่ละครั้งว่าเป็นอย่างไร เพราะมีตัวแปรเป็นองค์ประกอบหลากหลาย ทั้งเรื่อง 8 พรรคร่วมรัฐบาล เรื่องการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) หากเกิดการประท้วงก็ขึ้นอยู่กับว่ามีความรุนแรงในระดับใด เพราะภาพและผลกระทบจะออกมาหน้าตาไม่เหมือนกัน สิ่งที่นักลงทุนรอติดตาม คือ นโยบายต่างๆ การปฏิรูประยะสั้นและยาว โดยสิ่งสำคัญที่สุด คือ หน้าตาของรัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนก่อน เพื่อเรียกความเชื่อมั่น “นางสาวณัฐพร กล่าว
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า โจทย์ภัยแล้งถือเป็นโจทย์หนึ่งที่จะเข้ามาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่เริ่มเข้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมและคาดว่าจะลากยาวไปถึงกลางปี 2567 ซึ่งอาจกดดันต่อภาคการเกษตร การผลิตและการบริการที่ต้องการใช้น้ำในสัดส่วนสูงโดยเฉพาะในภาคกลาง และภาคตะวันออกที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้าง โดยศูนย์วิจัยฯ ประเมินความเสียหายต่อภาคเกษตรปีนี้อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของจีดีพี .-สำนักข่าวไทย