กรุงเทพฯ 2 มิ.ย. – เลขาธิการ อีอีซี ยืนยันการจัดตั้งรัฐบาลไม่กระทบอีอีซี เดินหน้าตามแผน นักลงทุนยังลงทุนต่อเนื่อง ยอมรับโครงการรรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช้ากว่าแผน จากโควิดและปรับเปลี่ยนสัญญา ต้องรอ ครม. ใหม่ พิจารณาปรับวงเงินงบประมาณ
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี (EEC) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่อีอีซีว่าขณะนี้ มีการเร่งรัดการดำเนินการใน 4 โครงการดังนี้
1.โครงการก่อสร้างสนามบินอูตะเภา ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเอกชนดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร และรัฐดำเนินการก่อสร้างรันเวย์สนามบิน โดยจะมีประกาศเชิญชวนประมาณเดือน ก.ค.2566 ซึ่งขั้นตอนล่าช้าไปบ้าง แต่จะแล้วเสร็จตามแผนในปี 2570
2.โครงการก่อสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าแหลมฉบัง เฟส 3 เพื่อขยายท่าเทียบเรือรองรับตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น จากที่มีกำหนดเปิดให้บริการใน ปี 2569 แต่มีปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้าง เรื่องการถมทะเล ทำให้จะล่าช้ากว่าแผนงานออกไปประมาณ 1 ปี
3.โครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด รองรับเรือขนส่งก๊าซแอลเอ็นจี ซึ่งจะนำไปใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ขณะนี้มีการถมทะเลแล้ว โดยการก่อสร้างเป็นไปตามแผน ซึ่งกำหนดเปิดให้บริการในปี 2570
4.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ล่าช้า เนื่องจากสถานการณ์โควิด และการปรับเปลี่ยนสัญญาของภาคเอกชนในการเชื่อมเส้นทางแต่ละสนามบิน ที่ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา ซึ่งต้องมีการพูดคุยเรื่องปรับวงเงินงบประมาณ และต้องนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องรอรัฐบาลใหม่ ทำให้กำหนดแผนงานก่อสร้างที่จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2570-2571 ขณะนี้ล่าช้าไปแล้วประมาณ 1 ปี
สำหรับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น พบว่าระบบรถไฟความเร็วสูง จะมีส่วนเชื่อมสนามบิน ดอนเมือง-บางซื่อ, บางซื่อ-พญาไท -สุวรรณภูมิ ซึ่งพบว่าพื้นที่เขตทางบางส่วน เกี่ยวพันกับโครงการรถไฟความเร็วสูงด้วย โดยที่ผ่านมามีความพยายามในการทำงานเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน ขณะที่พื้นที่ส่งมอบช่วงบางซื่อ –พญาไท ที่ยังติดปัญหาเคลียร์เรื่องท่อน้ำมัน เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างได้ ส่วนเส้นทางแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) ไปจนถึงอู่ตะเภา ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ใช้แนวเส้นทางเขตรถไฟเดิมเป็นส่วนใหญ่ แต่ในส่วนทางโค้งได้มีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อปรับเส้นทางรองรับความเร็วของรถไฟ รวมทั้งก่อสร้างสถานีเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม มองว่าการจัดตั้งรัฐบาลขณะนี้ ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนใน EEC เนื่องจากเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ โครงการต่างๆยังดำเนินไปตามปกติ ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จะมีการเดินหน้านโยบายที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และในการเลือกตั้งครั้งนี้ แทบทุกพรรค ก็มีนโยบายสนับสนุนอีอีซี สนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ สุขภาพ การแพทย์ ดิจิทัลเทคโนโลยี เป็นต้น
เลขาธิการ อีอีซี ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาโดรนใช้ในพื้นที่ EEC เพื่อขนส่งพัสดุสินค้าขนาดเล็ก ขณะนี้ได้เริ่มทดลองโครงการในพื้นที่ Sandbox ที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi วังจันทร์วัลเล่ย์ จ.ระยอง มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยมีทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เข้าร่วม โดยมีบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ทำหน้าที่จัดการจราจรทางอากาศ ระหว่างโดรนและเครื่องบิน ซึ่งจะมีระดับเพดานบินที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เบื้องต้น ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการสำรวจความต้องการของหน่วยงานและบริษัทต่างในพื้นที่อีซีซีเพิ่มเติม เพื่อนำมากำหนดรูปแบบที่เหมาะสม ถือเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ในการขนส่ง แต่การขนส่งทางภาคพื้นก็ยังจำเป็นต้องมีอยู่เช่นเดิม.-สำนักข่าวไทย