หอศิลปวัฒนธรรมฯ 11 พ.ค.- สภาผู้บริโภค เสนอทบทวนคิดค่าไฟฟ้า FT ปรับโครงสร้างราคา แก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบ หนุนประชาชน ติดตั้งโซล่าร์เซลล์ครัวเรือนลดภาระค่าไฟฟ้า
นายประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวในงานสัมมนา “ไฟฟ้าสำรองล้นระบบ ทำค่าไฟแพง ใครรับผิดชอบ” ว่า ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นจำนวนมากในปัจจุบันกระทบต่อประชาชนทุกครัวเรือน เมื่อเทียบการคิดค่าไฟฟ้าไทยกับมาเลเซีย ไทยทบทวนค่าไฟฟ้าแปรผันทุก 4 เดือน ขณะที่มาเลเซียทบทวนทุกเดือน หากใช้ไฟฟ้า 500 หน่วย ไทยจ่ายค่าไฟฟ้า 2,638 บาท มาเลเซียเสียค่าไฟฟ้า 1,292 บาท แนวทางการใช้มาตรการ หักลบกลบหน่วยไฟฟ้า เมื่อติดตั้งโซล่าเซลล์ ระหว่างปี 2021-2023 เพื่อแลกไฟฟ้าหน่วย/หน่วย ในขณะที่ ครม.ของไทยเห็นชอบแล้ว ขณะนี้ยังดำเนินการไม่ได้ นับว่ากระทรวงพลังงาน มีการขับเคลื่อนช้าอย่างมาก
สภาผู้บริโภค จึงมีข้อเสนอ การแก้ไขค่าไฟฟ้าแบบไม่ต้องใช้งบประมาณ ดังนี้
1.เสนอให้ กกพ. ทบทวนสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) โดยใช้วิธีคำนวณจากการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าและการประมาณการราคาเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ใช้เป็นค่าเฉลี่ยล่วงหน้า 4 เดือนนั้น ให้คำนวณจากค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงของ 4 เดือนที่ผ่านมาแทน
2.กระทรวงพลังงานและ กกพ. ปรับโครงสร้าง ราคา Pool Gas ใหม่ โดยให้นำปริมาณก๊าซ เข้าสู่โรงแยกก๊าชธรรมชาติของ ปตท. และถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมารวมอยู่ในราคา Pool Gas ด้วยจะทำให้ราคา P๐๐l Gas ลดลงได้ คาดว่าช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ราว 40,000 – 50,000 ล้านบาทต่อปี หรือลดค่าไฟฟ้าได้ 23 – 25 สตางค์/หน่วย
3.เสนอให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการให้ ปตท. จัดสรรรายได้จากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับ กฟผ. เพิ่มเติม จากการคำนวณส่วนต่างเบื้องต้นของมูลค่าก๊ซอีเทนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่ส่งให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเฉพาะในปี 2564 พบว่าจะเกิดส่วนต่างมูลค่าหลังหักค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนจากการประกอบกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในระดับที่เหมาะสมประมาณ 20,000 ล้านบาทสามารถนำเงินส่วนนี้มาเป็นส่วนลดค่าก๊าซให้ กฟผ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดภาระหนี้ของ กฟผ. ได้มากขึ้น
4.การแก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นเกิน กระทรวงพลังงานต้องหยุดสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หยุดเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าใหม่ และควรเจรจาต่อรองปรับปรุงสัญญากับโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วเพื่อลดค่าซื้อไฟฟ้า รวมทั้งค่าความพร้อมจ่ายที่เกิดขึ้น นับเป็นบันไดขั้นแรกในการแก้ปัญหา อุดช่องโหว่การเอื้อประโยชน์ต่อประชาชน
5.เสนอให้ กกพ. ประกาศให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านได้ด้วยการยอมให้มิเตอร์หมุนคืนได้(แบบหักลบกลบหน่วย หรือ Net Metering) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 รัฐบาลผลักดันโดยทันที เพื่อให้ค่าไฟฟ้าของประเทศลดลงต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย เพื่อลดความทุกข์เพิ่มความสุขให้กับผู้บริโภค ประชาชนอย่างยั่งยืน
นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า มาตรฐานสากลในการกำหนดให้ไฟฟ้าดับได้ต่อปี (LOLE) อยู่ที่ 1 วันหรือ 24 ชั่วโมงต่อปี ขณะที่ประเทศไทย กำหนดให้ไฟฟ้าดับได้ 0.7 วันต่อปี สัดส่วนดังกล่าว จึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าให้เพียงพอ และต้องสำรองปริมาณไฟฟ้าร้อยละ 19-24 สำหรับเพดานสูงสุด อ้างว่า โรงไฟฟ้ามีค่าเสื่อม เสีย ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ ยอมรับ การให้มีโรงไฟฟ้าสำรองจำนวนมาก 13 แห่ง จึงมีค่าพร้อมจ่ายเพิ่มจำนวนมาก กฟผ.ต้องจ่ายเงินตามสัญญา แม้จะไม่ได้จ่ายไฟฟ้ายังต้องจ่ายเงิน เช่น ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.66 มี 2 โรงงานไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ยังได้ค่าพร้อมจ่าย 6,187 ล้านบาท การใช้ไฟฟ้าแต่ละปี 2 แสนล้านหน่วย หากคำนวณคร่าวๆ เพียง 4 บาทต่อหน่วย มีมูลค่าถึง 8 แสนล้านบาท
นางรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบ เป็นการผ่องถ่ายกำไรจาก กฟผ. ไปให้ภาคเอกชน เพียงช่วง 5 ปี กลายเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของไทย ยอมรับว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กฟผ.ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเดิม 15,000 เมกกะวัตต์ เพิ่มเล็กน้อย ขณะที่โรงไฟฟ้าของภาคเอกชน ในช่วง 20 ปี จึงมองว่าเอกชนเพียงรายเดียวมีสัญญาสัมปทานโรงไฟฟ้า เติบโตมาใกล้เคียงกับ กฟผ. กำลังการผลิต 15,000 เมกกะวัตต์.- สำนักข่าวไทย