ทำเนียบฯ 3 พ.ค.- รัฐบาลปลื้ม 5 สินค้าไทยครองส่วนแบ่งส่งออกอันดับ 1 ตลาดโลกในปี 65 ทุเรียนพระเอกส่วนแบ่งถึงร้อยละ 93 สะท้อนคุณภาพสินค้าไทย เดินหน้าส่งเสริมเชิงรุก
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีพอใจ 5 สินค้าไทย ติดอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งการส่งออกในตลาดโลก ประจำปี 2565 พบว่า ทุเรียน มันสำปะหลัง ถุงยางอนามัย สับปะรดกระป๋อง และปลาทูน่ากระป๋อง มีมูลค่าการส่งออกและส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียน มูลค่าการส่งออกทุเรียนสด 3,219 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีส่วนแบ่งในตลาดโลกถึงร้อยละ 93.3 สะท้อนศักยภาพสินค้าไทย พร้อมส่งเสริมและขยายตลาดใหม่ที่น่าสนใจเพิ่มเติม
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยรายงานการวิเคราะห์ 5 สินค้าไทยมีส่วนแบ่งการส่งออกในตลาดโลกเป็นอันดับที่ 1 ในปี 2565 จาก Global Demand Dashboard ผ่านเว็บไซต์คิดค้า.com (http://คิดค้า.com) ซึ่งได้แก่ ทุเรียนสด มีมูลค่าการส่งออก 3,219 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 93.3 โดยตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ จีน ฮ่องกง และไต้หวัน ตามลำดับ มันสำปะหลัง มีมูลค่าการส่งออก 1,523 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีส่วนแบ่งในตลาดโลก ร้อยละ 46.5 โดยตลาดส่งออกหลักของไทย คือ จีน คิดเป็นร้อยละ 98.6 ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด ถุงยางอนามัย มีมูลค่าการส่งออก 272.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีส่วนแบ่งในตลาดโลก ร้อยละ 44.0 โดยตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ จีน สหรัฐ และเวียดนาม ตามลำดับ สับปะรดกระป๋อง มีมูลค่าการส่งออก 469.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีส่วนแบ่งในตลาดโลก ร้อยละ 36.4 โดยตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐ รัสเซีย และเยอรมนี ตามลำดับ ปลาทูน่ากระป๋อง มีมูลค่าการส่งออก 2,284.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีส่วนแบ่งในตลาดโลก ร้อยละ 24.8 โดยตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ตามลำดับ
นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ในปี 2565 ไทยได้ส่งออกทุเรียน แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1. ทุเรียนสด มีมูลค่าการส่งออกถึง 110,144 ล้านบาท 2. ทุเรียนแช่แข็ง มีมูลค่าการส่งออกถึง 14,943 ล้านบาท โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม เช่น สายพันธุ์หมอนทอง สายพันธุ์ก้านยาว สายพันธุ์หลงลับแล
“นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ทุกภาคส่วนร่วมส่งเสริมและผลักดันสินค้าไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเชื่อมั่นว่า สินค้าไทยในประเภทอื่น ๆ ยังมีศักยภาพขยายตลาดใหม่ได้อีกมาก ผ่านนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการกระจายสินค้า และการขายสินค้าทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ตลอดจนการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำเสนอสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเติม” นายอนุชา กล่าว.-สำนักข่าวไทย