นนทบุรี 13 เม.ย. – อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตือนภัยระวังมิจฉาชีพหลอกให้อัปเดตข้อมูลธุรกิจ หวังดูดเงินเกลี้ยงบัญชี ย้ำก่อนให้ข้อมูลหรือคลิกลิงก์ใดๆ ให้คิดพิจารณาอย่างรอบคอบมากที่สุด
ย้ำอีกรอบ!! กรมฯ ไม่มีนโยบายทักหาภาคธุรกิจหรือประชาชนก่อน ก่อนคลิกลิงก์ใดๆ คิดให้รอบคอบที่สุด ย้ำก่อนให้ข้อมูลหรือคลิกลิงก์ใดๆ ให้คิดพิจารณาอย่างรอบคอบมากที่สุด เพราะผู้ที่เดือดร้อนไม่ใช่ใครตัวเราเอง
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ทุกคนจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว แต่อาจมีมิจฉาชีพที่ทำให้ความสนุกที่เกิดขึ้นหมดสิ้นไป โดยใช้ช่วงเวลาแห่งความสุขนี้หลอกให้ภาคธุรกิจและประชาชนอัปเดตข้อมูลธุรกิจหรือข้อมูลส่วนบุคคลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยอ้างชื่อและโลโก้หน่วยงานราชการ ทำให้ดูน่าเชื่อถือ รวมถึง การปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์ให้มีรูปแบบคล้ายกับหน้าเว็บไซต์กรมฯ ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานได้มีการออกมาเตือนภัยอย่างต่อเนื่องให้ระวังการให้ข้อมูลหรือคลิกลิงก์ที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ล่าสุดมิจฉาชีพได้มีการพัฒนากลโกงที่มีความก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยมีการใช้น้ำเสียง/ข้อมูลธุรกิจเชิงลึกสร้างความน่าเชื่อถือ เริ่มจากการแนะนำชื่อ-นามสกุล-ตำแหน่ง-ชื่อหน่วยงานราชการ พร้อมส่งเอกสารข้อมูลธุรกิจเชิงลึกประกอบการหลอกลวง เมื่อภาคธุรกิจหรือประชาชนหลงเชื่อพูดคุยอย่างต่อเนื่อง จะมีการหว่านล้อมขอข้อมูลส่วนบุคคล หรือให้คลิกลิงก์เพื่ออัปเดตข้อมูลธุรกิจหรือข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมทั้งมีการอ้างข้อกฎหมายที่มีบทลงโทษที่หนัก เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนเกิดความหวาดกลัว และทำตามที่มิจฉาชีพหลอก รู้ตัวอีกทีเงินที่มีอยู่ในบัญชีถูกโอนออกไปจนหมด ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้รับความเสียหายเป็นอันมาก
อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอย้ำกับภาคธุรกิจและประชาชนอีกครั้งว่ากรมฯ ไม่มีนโยบายทักหาภาคธุรกิจและประชาชนก่อน โดยที่ประชาชนท่านนั้นไม่ได้สอบถามข้อมูลมา รวมถึงให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจด้วยเงิน จึงฝากให้ภาคธุรกิจและประชาชนพึงระวังหากไม่ได้ดำเนินการติดต่อใดๆ กับกรมฯ แต่ได้รับข้อมูลหรือการติดต่อจากบุคคลในลักษณะดังกล่าวต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน อย่าหลงเชื่อหรือกดไฟล์เอกสารที่แนบมาโดยไม่สังเกตความผิดปกติ และปฏิเสธการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่น
ปัจจุบันมิจฉาชีพได้มีการพัฒนากลวิธีการหลอกลวงให้แนบเนียนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเข้าถึงทุกคนอย่างง่ายดาย และได้แอบอ้างชื่อหน่วยงานราชการมาใช้สร้างความเสียหาย ส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวงผ่านช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงแต่ละบุคคล เช่น โทรศัพท์ อีเมล โซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ปลอม เพื่อล่อลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้โจรกรรม ซึ่งจะใช้การสร้างสถานการณ์ให้เกิดความหวาดกลัว หรือได้รับผลประโยชน์บางสิ่งจนหลงเชื่อทำตามและบอกข้อมูลส่วนบุคคลไป
ทั้งนี้ ขอให้ภาคธุรกิจและประชาชนระมัดระวังการเปิดรับข้อมูลจากแหล่งที่ไม่มั่นใจ และรู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพ สามารถสังเกตจากถ้าได้รับอีเมลควรเป็นชื่อที่รู้จักหรือติดต่อไว้เท่านั้น หากระบุให้คลิกลิงก์หรือเปิดไฟล์ต้องแน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติ เมื่อนำเมาส์ไปชี้ที่ลิ้งก์ URL จะต้องมี URL ที่ตรงกันกับหน่วยงานที่ติดต่อเท่านั้น อีกทั้ง การเข้าใช้งานในเว็บไซต์ควรพิมพ์ URL โดยตรงจะปลอดภัยกว่าการเข้าใช้งานผ่านลิงก์
“กรมฯ ขอให้ภาคธุรกิจและประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการให้ข้อมูลและการคลิกลิงก์ใดๆ ที่แนบมากับข้อความผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ และขอย้ำอีกครั้งว่ากรมฯ ไม่มีนโยบายในการติดต่อหาภาคธุรกิจและประชาชนเพื่อให้มีการอัปเดตข้อมูลธุรกิจหรือขอข้อมูลส่วนบุคคลก่อน และเสนอเงินช่วยเหลือ หากได้รับการติดต่อไปก่อนในลักษณะนี้ ให้สงสัยไว้ว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ ให้พึงระวังมากที่สุด เพราะผู้ที่เดือดร้อนไม่ใช่ใครตัวภาคธุรกิจและประชาชนเองทั้งสิ้น หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดตามโครงการส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจด้านต่างๆ ติดต่อได้ที่สายด่วน 1570 เว็บไซต์ www.dbd.go.th และ FB: DBD Public Relations” อธิบดีฯ กล่าว.-สำนักข่าวไทย