กรุงเทพฯ 20 ก.พ.-โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ เดินหน้าแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ หวังลดปัญหาฝุ่น PM2.5 เร่งขับเคลื่อนนโยบายตัดอ้อยสดส่งมอบโรงงาน พร้อมสนับสนุนรถตัดอ้อยและรับซื้อใบอ้อยสดเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 โรงพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานระดับจังหวัดและหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐที่ต้องการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างเต็มที่ โดยเร่งสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาตัดอ้อยสดส่งมอบให้แก่โรงงาน ผ่านโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อจัดหารถตัดอ้อยแก่ชาวไร่อ้อย เพื่อทดแทนการจัดเก็บผลผลิตด้วยแรงงานคนที่มีต้นทุนสูง รวมถึงเพิ่มแรงจูงใจชาวไร่ตัดอ้อยสดด้วยการรับซื้อใบอ้อยในราคาตันละ 800 บาท นำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า และมีการหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้ 30 บาทต่อตัน เพื่อนำไปเพิ่มให้กับอ้อยสด สนับสนุนให้ชาวไร่ตัดอ้อยสด ลด/เลิกการเผาอ้อย ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อยเป็นน้ำตาลทรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานได้ประโยชน์สูงสุดร่วมกัน
ขณะเดียวกัน โรงงานน้ำตาลเห็นว่า กฎระเบียบของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ระบุว่า โรงงานไม่สามารถปฏิเสธการรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยได้ ยกเว้นกรณีที่ค่าความหวานอ้อยมีคุณภาพต่ำกว่า 6 ซี.ซี.เอส.และอ้อยไฟไหม้มีความบริสุทธิ์ไม่ได้มาตรฐานนั้น หากโรงงานปฏิเสธรับผลผลิตอ้อยไฟไหม้ก็จะผิดกฎระเบียบและถูกลงโทษปรับถึง500,000 บาท จึงไม่เป็นธรรมต่อโรงงานและไม่เอื้อต่อแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ดังนั้น ในการแก้ปัญหาในระยะยาว โรงงานน้ำตาลจะเร่งให้ความรู้แก่ชาวไร่อ้อยเพื่อสร้างความตระหนักถึงการทำการเพาะปลูกอ้อยอย่างยั่งยืน และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและความสมดุลของระบบนิเวศไปพร้อมกัน โดยมุ่งส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนการใช้แรงงานคน ตั้งแต่ขั้นตอนวางแผนการปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกกอ้อยแบบดั้งเดิมไปสู่รูปแบบการเพาะปลูกรูปแบบใหม่
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งตัวแทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานน้ำตาลประชุมหารือมาตรการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเกิดฝุ่น PM2.5 ให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าข้อมูลของ GISTDA ได้รายงานสาเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2553-2562) จากพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่มาจากการเผาป่า และเผาเศษวัสดุทางการเกษตรมากที่สุด ส่วนการเผาอ้อยเป็นเพียงส่วนน้อย .-สำนักข่าวไทย