กรุงเทพฯ 13 ก.พ.-บอร์ด กพช. หวังค่าไฟฟ้าลดลง หลังทำลายกำแพง POOL GAS เดิม โดยปรับเกณฑ์ให้ 8 ชิปเปอร์นำเข้า LNG คำนวณในราคาตลาดรวมก๊าซ หรือPOOL GAS ได้ทุกราย จากเดิมเป็นสัญญาของ ปตท. ย้ำข่าวดี LNG ราคาโลกลดลง ทำให้ค่าไฟฟ้าปีนี้น่าจะถูกลง
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ติดตามสถานการณ์พลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในปีนี้ ที่ราคาต่ำลงกว่าปีที่แล้วเป็นผลดีต่อค่าครองชีพ จึงคาดค่าไฟฟ้าในงวดถัดไปในปีนี้ราคาจะต่ำลง จากค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดแรก ( ม.ค.-เม.ย.66 ) ที่ราคาสูงสุดหรือนิวไฮ โดยเฉพาะราคาแอลเอ็นจีตลาดโลกล่าสุดลดลงเหลือประมาณ 15-16 เหรียญสหรัฐ/ล้านบียู จากที่เคยสูงในระดับ 30-40 เหรียญ/ล้านบีทียู และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้ในปีนี้โรงไฟฟ้าต่างๆ อาจไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเตา และดีเซล ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากที่ปีที่แล้วต้นทุนน้ำมันนั้นต่ำกว่าการใช้แอลเอ็นจีนำเข้า
นอกจากนี้ จากสถานการณ์ ราคาพลังงานที่สูงมากใน ในช่วงปีที่แล้วที่เกิดจากปัญหาสงคราม ยูเครน-รัสเซีย ก็ส่งผลทำให้ การนำเข้าแอลเอ็นจี โดย ผู้นำเข้า(ชิปเปอร์ ) รายใหม่ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะราคานำเข้าใหม่ที่เป็นตลาดจร (SPOT) จะสูงกว่า ราคาตลาด POOL ที่ ปตท.ได้ราคานี้เพียงรายเดียว ที่เกิดจากการอ้างอิงราคาก๊าซในประเทศราคานำเข้าจากเมียนมา และราคาแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาว ( LONG TERM )
ดังนั้น กพช. จึงมีมติ วันนี้ให้ ทบทวนการเปิดเสรี ก๊าซฯ ระยะที่ 2 ที่เห็นชอบ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 64 โดยปรับเปลี่ยนเป็นให้ 8 ชิปเปอร์ สามารถนำเข้าแอลเอ็นจี ตามเกณฑ์ราคากำหนดของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ที่จะออกเกณฑ์ ราคา Benchmark ใหม่ ให้เหมาะสม ต้นทุนต่ำ เพื่อประโยชน์ของการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยให้นำราคาใหม่ที่นำเข้านำมาผสมในราคาตลาด POOL ได้ด้วยเช่น แล้ว โดยราคา Benchmark จะต้องทันสถานการณ์ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ชิปเปอร์รายใหม่ก็จะมีโอกาสนำเข้าได้ นอกเหนือจาก ปตท.
โดยในส่วนของการดูแลตลาด POOL จะมีการจัดตั้ง ส่วนดูแล หรือ POOL MANAGER ที่ เบื้องต้น บมจ.ปตท. เป็นผู้ดูแล แต่จะมีการแยกบัญชีออกมาชัดเจน แล้ว ในอนาคต กกพ. เสนอว่า POOL MANAGER จะเป็นองค์กรอิสระมาดูแล ทั้งในส่วนการซื้อหรือนำเข้า และ การจำหน่าย ที่ 8 ชิปเปอร์สามารถนำไปจำหน่ายได้ทั้ง ภาคการผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรม ในรูปแบบนี้ ก็ เชื่อมั่นว่าจะทำให้เกิดการแข่งขั้น ในปลายทาง โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตก็จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพให้เกิด HEAT RATE ที่แข่งขันได้ดีที่สุด ในขณะที่ โรงงานอุตสาหกรรมก็จะได้ ต้นทุนก๊าซที่คาดว่าจะต่ำลง
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ. ) กล่าวว่า ในส่วนของโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายกับรัฐ จะอยู่ในตลาดไฟฟ้า Regulated Market ซึ่งชิปเปอร์จะต้องมีสัญญาขายชัดเจน ป้องกันการขาดแคลน มีการกำกับตั้งระบบโดย กกพ. ในขณะที่ กรณีโรงไฟฟ้าอื่นๆ หรือการนำเข้ามาขายในอุตสาหกรรมต่างๆ จะอยู่ในกลุ่มที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง หรือPartially Regulated Market ซึ่ง Shipper สามารถกำหนดราคาขายได้โดยอิสระ อย่างไรก็ตามทุกตลาดจะต้องมีการจ่ายค่าใช้ทรัพย์สินของ ปตท. เช่นท่อขนส่ง ท่าเรือ คลังแอลเอ็นจี ตามที่ กกพ.กำหนด ส่วน จะมีชิปเปอร์รายใหม่ๆ เกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่นั้น เรื่องี้เป็นหน้าที่ของ กกพ.กำหนด
“ ในอนาคต คาดว่า ไทยต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมากขึ้นเรื่อยๆ ทดแทนก๊าซในประเทศที่จะลดลง ดังนั้น การปรับตลาดซื้อขายรูปแบบใหม่ ก็จะเป็นการรองรับการแข่งขันการนำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วน สัญญาระหว่าง โรงไฟฟ้าภายใต้ Regulated Market ระหว่าง ปตท.กับเจ้าของโรงไฟฟ้าเดิมนั้น บอร์ด กพช.เคยมีมติชัดเจนว่า ให้อิสระในการเจรจาระหว่างกันเองว่า จะยกเลิก หรือ ยังจะซื้อจาก ปตท.เช่นเดิม โดยภาพรวมแล้วก็เชื่อว่าการแข่งขั้นเช่นนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์” นายวัฒนพงษ์ กล่าว
สำหรับรายชื่อ 8 ชิปเปอร์ ทีได้รับการอนุมัติ ให้นำเข้าและจำหน่ายแอลเอ็นจี จำ กกพ.แล้วประกอบไปด้วย
(1) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
(2) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(3) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
(4) บริษัท หินกอง เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
(5) บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
(6) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)
(7) บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
(8) PTT Global LNG Company Limited .-สำนักข่าวไทย