กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุ ครม. มีมติช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบาง ต้องให้ กกต. อนุมัติ
นายกุลิศ สมบัติศิรี ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แม้ ครม. จะอนุมัติงบกว่า 11,000 บาท ต่ออายุช่วยค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเนื่องเดือน พ.ค.-ส.ค. เป็นเวลา 4 เดือน และผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน จะได้ส่วนลด 150 บาท รอบเดือน พ.ค. นั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากจะต้องได้รับอนุมัติให้ใช้งบประมาณจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน เนื่องจากรัฐบาลขณะนี้เป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่สามารถใช้งบประมาณได้ ดังนั้น ครม. จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องเสนอ กกต. พิจารณาให้ความเห็นชอบใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนด หาก กกต. อนุมัติก็สามารถดำเนินการต่อได้
ส่วนเรื่องการสำรองไฟฟ้าที่มีประเด็นต่างๆ ออกมามากมายนั้น ในการดำเนินการแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า (แผน PDP) เมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 ดังนั้น การเปิดให้มีการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะไฟฟ้าพลังงานสะอาด หรือไฟฟ้าสีเขียว เข้ามาในระบบจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และจะต้องเพิ่มสัดส่วนเข้ามา ขณะที่พลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ได้มีตลอดเวลา จึงต้องสำรองไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนในอนาคต และการจะใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดในปริมาณมากขึ้น ก็ต้องมีการสำรองที่มากด้วยเช่นกัน และแม้จะมีการสำรองไฟสูงก็ไม่มีผลทำให้ค่าไฟฐานเพิ่มขึ้น เพราะค่าไฟฐานยังเป็นอัตราเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง 3-4 ปีแล้ว
ส่วนค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 4 บาท จะสามารถทำได้หรือไม่นั้น ปลัดกระทรวงพลังงาน แจงว่า ช่วงปี 2562-2563 ก่อนสถานการณ์โควิด ที่ค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 4 บาทนั้น เนื่องจากช่วงขณะนั้นราคาก๊าซแอลเอ็นจีในตลาดโลกต่ำมากอยู่ที่ 6-7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก่อนกระโดดขึ้นมาเป็น 40 กว่าดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เพราะฉะนั้นค่าไฟที่แพงขึ้นมาจากต้นทุนแอลเอ็นจี ขณะนี้ราคาตลาดโลกลดลงมาอยู่ที่ 19-20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และเดือนหน้า กกพ. อนุมัติให้ ปตท. จัดหาให้ได้ประมาณ 13-15 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จะทำให้ต้นทุนค่าเอฟทีลดลงมา และถ้าหากราคาก๊าซแอลเอ็นจีลดลงมาได้อยู่ 11-12 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ยิ่งจะทำให้ต้นทุนค่าเอฟทีต่ำลงมาได้อีก ทั้งนี้ ยังมีภาระที่ต้องคืนหนี้ กฟผ.
นอกจากนี้ยังมีสัญญาณที่ดีคือ กำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทย แหล่ง G1 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่ง ปตท.สผ. ผู้รับสัมปทาน ขณะนี้ผลิตได้ได้ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 500-600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปลายปีนี้ ซึ่งมาทดแทนการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีได้ และเมื่อประกอบกับในอนาคตราคาในตลาดโลกลกลงอีก อัตราแลกเปลี่ยนดีขึ้น จะส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลง และจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย.-สำนักข่าวไทย