กรุงเทพฯ 20 ธ.ค. – กรมประมงและปตท.สผ. ร่วมกับอีก 3 องค์กร ศึกษาวิจัยการสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล เพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยเป็นรูปแบบใหม่ในประเทศไทยที่ยังไม่เคยมีการศึกษาครอบคลุมด้านการฟื้นฟูทรัพยากรประมงมาก่อน ตลอดจนการขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่สิ้นสุดการทำหน้าที่ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดสร้างแหล่งปะการังเทียมได้ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีข้อเด่นคือ แข็งแรง ทนทาน และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
กรมประมงร่วมกับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาวิจัยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาองค์ความรู้ของประเทศด้านการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับแนวทางการรักษาสมดุลระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลหรือแหล่งปะการังเทียมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์ทะเลตามธรรมชาติ กรมประมงได้ศึกษาและพัฒนาวัสดุ รวมถึงรูปแบบการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลมาโดยตลอด ปัจจุบันกรมประมงใช้แท่งคอนกรีตเป็นมาตรฐานในการจัดสร้าง เนื่องจากเป็นวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมาการศึกษาการจัดสร้างแหล่งปะการังเทียมยังไม่ครอบคลุมด้านการประมง ดังนั้นโครงการศึกษาวิจัยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลด้วยวัสดุขาแท่นปิโตรเลียมนอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยจึงเป็นการนำร่องในการศึกษาด้านแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลรูปแบบใหม่ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อวางแนวทางการใช้ประโยชน์จากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมอย่างเหมาะสมในอนาคต นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับด้านวิชาการและด้านการประมงที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ เพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหาร ตลอดจนเป็นการส่งเสริมอาชีพประมง โดยก่อนจัดสร้างจะสำรวจร่องน้ำเดินเรือ กระแสน้ำ สภาพพื้นทะเลเพื่อหาพิกัดที่เหมาะสม เบื้องต้นคาดว่า จะจัดสร้างบริเวณทะเลจังหวัดสงขลาและปัตตานี
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมากว่า 37 ปี กิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบางพื้นที่ในอ่าวไทยได้สิ้นสุดลง สิ่งติดตั้งและอุปกรณ์การผลิตซึ่งต้องรื้อถอนหลังสิ้นสุดการทำหน้าที่ในการผลิตปิโตรเลียมเพื่อเป็นพลังงานให้แก่ประเทศ ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลได้ ด้วยการนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมไปจัดสร้างเป็นปะการังเทียมในระดับน้ำลึกราว 50-60 เมตร เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลและช่วยเพิ่มผลผลิตที่เป็นประโยชน์ต่อการประมง
การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ทั้ง 5 หน่วยงานมาร่วมกันศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ในการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดสร้างเป็นแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมง รวมถึง การนำไปต่อยอดให้เกิดการปฏิบัติได้จริงในอนาคต ตลอดจนเป็นทางเลือกในการนำทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ให้เกิดคุณค่าและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อท้องทะเลให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนในการประกอบอาชีพของชาวประมงไทย.-สำนักข่าวไทย