ทำเนียบฯ 15 ธ.ค.-รองโฆษกรัฐบาล ชูโมเดล BCG สร้างรายได้หลักล้านสู่ชุมชน ก้าวสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายไทย ดันไทยเป็นฮับไบโอพลาสติก สร้างโอกาสการแข่งขันสินค้ารักษ์โลก ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน สะท้อนผลสำเร็จ “พล.อ.ประยุทธ์” มุ่งพลิกโฉมประเทศ
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศเป้าหมายให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการพลิกโฉมประเทศไทย ทำให้ประชาชนมีรายได้ และเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ต่างเริ่มขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างเป็นระบบในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เปรียบเหมือนแม่น้ำร้อยสายที่สุดท้ายจะมาบรรจบเป็นแม่น้ำใหญ่ที่จะเกิดขึ้นภายใน 5-7 ปีข้างหน้า โดยมองว่าโอกาสของสินค้า BCG จะเติบโตขึ้นเป็นอันดับต้นในภูมิภาค เนื่องจากสินค้ารีไซเคิลหลายอย่างเริ่มได้รับการยอมรับและมีการส่งออกไปในต่างประเทศ อีกทั้งต่อไปนี้ในเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมายกรุงเทพฯ คือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพราะฉะนั้น สินค้าที่ผลิตโดยรูปแบบ BCG จะได้รับการยอมรับ หรือลดเงื่อนไขของการซื้อขายระหว่างประเทศ
ขณะที่ผู้บริหารองค์กรชั้นนำ ทั้งนายชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด และนายอุกฤษ อุณหเลขกะ เป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร กิจการเพื่อสังคม Startup ชื่อ Ricult (รีคัลท์) มองไปในทิศทางเดียวกันว่า โมเดล BCG คือ อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-curve ของประเทศไทย ทั้งนี้ นายชญาน์ ยกตัวอย่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มจากเอาวัตถุดิบการเกษตร จากน้ำมันปาล์มมาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใส่ผสมน้ำมันและไบโอเคมิคอล ที่นำน้ำมันปาล์มไปผลิตสารซักล้าง เช่น สบู่และแชมพูสระผม โดยเชื่อมั่นว่าต่อไปประเทศไทยจะเป็นฮับเรื่องไบโอพลาสติกที่ทั้งผลิตใช้ในประเทศและส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า นายชญาน์ ยังมองถึงโอกาสในการแข่งขันด้านสินค้าพลาสติกชีวภาพ หรือไบโอพลาสติก ทั้งในแง่ต้นทุนและคุณภาพสินค้า เนื่องจากปัจจุบันไทยใช้พลาสติกจำนวนมาก ปีหนึ่งประมาณ 2 ล้านตัน รีไซเคิลกลับมาใช้จริงในระบบประมาณ 5 แสนตันเท่านั้น ที่เหลือนำไปฝังกลบเสียส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีมูลค่าและอาจเกิดการรั่วไหลไปยังสิ่งแวดล้อม ดังนั้น พลาสติกอีก 1.5 ล้านตัน ถ้าสามารถรวบรวมและแยกให้เป็นระบบมากขึ้น เข้าโรงงานรีไซเคิลจะสามารถทำให้รายได้กลับสู่ชุมชน จากการสำรวจปริมาณขยะพลาสติกและพลาสติกใช้แล้วทั่วประเทศ พบว่าทุกภาคมีปริมาณที่เหลือใช้มาก ถ้าสามารถเริ่มได้ทุกหมู่บ้านทั้ง 8 พันกว่าหมู่บ้าน หรือ 1 ตำบล มีสักแห่งหนึ่งการลงทุนในแง่ต้นทุนไม่สูงมาก ทุกคนสามารถทำได้ เมื่อทำแล้วขยายผลไปทั่วประเทศ จะรวบรวมพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมาเข้าโรงงานแล้วจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้มากพอสมควร ก็คงหลายหมื่นล้านบาท สร้างรายได้นับล้านบาทให้กับชุมชน โดยมีตัวอย่างที่ทำไปแล้ว 5-6 แห่ง ทุกแห่งรายได้เพิ่มขึ้นทั้งหมด ต่อแห่งเล็กๆ 2 ตำบล ขยะพลาสติกต่อปีชุมชนต่อปีประมาณ 50 ตัน รายได้ประมาณ 1 ล้านบาท กำไรเข้าชุมชนหลายแสนบาท
ขณะที่ในส่วนของนายอุกฤษ มองถึงการดึงศักยภาพของเกษตรกรไทย ในการปรับการทำเกษตรให้มีรายได้มากขึ้น ผลิตสินค้าเกรดพรีเมียมที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น โดยนำนวัตกรรมใหม่ๆ และ BigData เข้ามาช่วยยกระดับ เนื่องจากตลาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกาต้องการสินค้าที่ผ่านกระบวนการที่ไม่ทำลายโลก ประเทศไทยมีโอกาสที่จะผลิตสินค้าตอบโจทย์โลกได้ เพราะมีเกษตรกรจำนวนมากกว่า และเก่ง ถ้ามีโรงงานใหญ่สามารถแปรรูปเป็นไบโอพลาสติก เป็นเอทานอลได้ หรือแปรรูปข้าวมาเป็นวิตามิน หรือเป็นเครื่องสำอาง มูลค่าของสินค้าเกษตรไทยจะมากขึ้น ราคารับซื้อจากเกษตรกรไทยก็จะมากตามไปด้วย ซึ่งนักลงทุนเห็นโอกาสของภาคเกษตรในประเทศไทย เงินลงทุนจะเข้ามามากมาย
ทั้งนี้ จากการขับเคลื่อนโมเดล BCG ของภาคส่วนต่างๆ และจากมุมมองของผู้บริหารธุรกิจ สะท้อนทิศทางที่สดใสของโมเดล BCG ที่จะดึงดูดนักลงทุน ยกระดับธุรกิจในประเทศ เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัป รวมทั้งชุมชนต่างๆ เป็น New S-curve ควบคู่ไปกับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยา นวัตกรรมดิจิทัล ที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยให้มีมูลค่าสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม.-สำนักข่าวไทย