กรุงเทพฯ 13 ธ.ค.- SCC ปรับตัว รับ”โลกเปลี่ยน” ทุ่มงบลงทุน 1แสนล้านบาทใน 5 ปี สู่ 6 กลุ่มธุรกิจใหม่ พร้อมเกาะติดต้นทุนพลังงานสูงต่อเนื่อง ชี้หากจีนเปิดประเทศจริง เศรษฐกิจไทยฟื้นเร็ว
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจในปีหน้า บริษัทยังคงกังวลต่อความผันผวนของราคาพลังงานและต้นทุนราคา วัตถุดิบ โดยแก้โจทย์ คือ ใช้พลังงานลดลงหรือหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยบริษัทวางงบลงทุนรวม 5 ปี (66-70) ที่ 1 แสนล้านบาทรองรับการขยาย 6 กลุ่มธุรกิจใหม่ ได้แก่1.ธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร (Energy Transition Solutions) เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 195 เมกะวัตต์ และตั้งเป้า 3,000 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี, นวัตกรรมแบตเตอรี่(Heat Battery) , พัฒนาพลังงานชีวมวลคุณภาพสูง (Biomass และ Biocoal) เชื้อเพลิงจากขยะ (Refused Derived Fuel : RDF) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในโรงงานซีเมนต์ มุ่งสู่ Net Zero ,พลังงานชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) , โซลูชันด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV Solution Platform) และ EV Fleet Solution ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การจัดหายานยนต์ไฟฟ้า ประกันภัย ซ่อมบำรุง สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึง ให้บริการรูปแบบการเช่า โดยปี 65 ตั้งเป้าส่งมอบรถ EV จำนวน 492 คัน
2.โซลูชันสุขภาพและการแพทย์ (Health and Medical Solutions) ตอบโจทย์เทรนด์ดูแลสุขภาพ และสังคมผู้สูงอายุขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Supplies and Labware) กว่า 15,000 รายการ โดยSCGP เข้าถือหุ้น Deltalab ประเทศสเปน, เม็ดพลาสติกเพื่อการแพทย์ SCGC, PP และ PVC สำหรับผลิตอุปกรณ์การแพทย์และเภสัชกร
3. ดิจิทัลโลจิสติกส์ครบวงจร (Digital logistics) บริการขนส่งและซัพพลายเชนครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียนโดยSCGJWD ให้บริการทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ขนส่งหลากหลายทั้งทางบกเรือ ราง อากาศ รองรับสินค้าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ
4. นวัตกรรมกรีน (Green Solutions) ลดใช้ทรัพยากร ส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ ภายใต้ฉลาก SCG Green Choice จำนวน 232 รายการ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายจาก 50% เป็น 67% ภายในปี 73, รวมทั้งเทคโนโลยีก่อสร้างครบวงจร, นวัตกรรมพลาสติกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ Braskem ผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลกจากประเทศบราซิล เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพในไทย เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกประเภทไบโอ-พอลิเอทิลีน (Bio-Based Polyethylene) หรือ Bio-PE เป็นต้น
5. สมาร์ทลิฟวิ่ง (Smart Living Solutions) โซลูชันเพื่ออากาศสะอาดและประหยัดพลังงาน สำหรับกลุ่มอาคาร(Smart Building) , กลุ่มที่อยู่อาศัย บ้าน/คอนโดฯ (Smart Home Solution)
6 หุ่นยนต์อัจฉริยะ (Artificial Intelligence Solutions) ลดต้นทุน เวลา แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต
“โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเกิดการใช้จ่ายออนไลน์ ภาคธุรกิจประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนพลังงานสูง จึงนำดิจิทัลเทคโนโลยี พลังงานสะอาดมาใช้ลดต้นทุน ต้องดูแลสังคม สิ่งแวดล้อมให้ดีเพื่อส่งต่อทรัพยากรให้คนรุ่นถัดไป เอสซีจีจึงมุ่งพัฒนานวัตกรรมโซลูชันแห่งอนาคตให้ตรงกับความต้องการใหม่ๆ สร้างความเติบโตและแข็งแกร่งให้เอสซีจี พร้อมเดินหน้าขยายโครงการลงทุนทั่วโลก ด้วยงบลงทุน 100,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี” นายรุ่งโรจน์ กล่าว
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC กล่าวว่า หากจีนเปิดประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวก็จะกลับมาเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจของ SCC และมองว่า เทรนด์พลังงานทดแทนในอนาคต จะต้องลงทุน จึงสนใจทั้งพลังงานลมและไฮโดรเจน พร้อมตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานจากถ่านหินลดลง 70% ภายในปี 73- .สำนักข่าวไทย