กรุงเทพฯ 8 ธ.ค.-ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาลัยหอการค้าไทยระบุหลังรัฐบาลผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆมากขึ้นส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะท่องเที่ยวแถมทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย.แตะ47.9 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สูงสุดรอบ 20 เดือน และยังส่งผลให้ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนพ.ย.ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่6 แตะระดับ 43.9 ขอเร่งแก้ต้นทุนสูงรักษาเสถียรภาพค่าเงิน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับ 47.9 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเปิดเผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5 โดยมีปัจจัยบวกมาจากการผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโควิด 19 รวมถึงนโยบายในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการผ่อนคลายมากขึ้น โดยมีการปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งเศรษฐกิจที่ขยายตัวมาจากแนวโน้มการบริโภคของภาคเอกชนที่มากขึ้น การลงทุนของภาครัฐและเอกชนรวมถึงเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ3-4 จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวการขยายตัวของการลงทุนและการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภครวมถึงภาคเกษตรที่ขยายตัวดี
ทั้งนี้ มองว่า เศรษฐกิจโลกยังคงมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในช่วงไตรมาสที่ 4 รัฐบาลยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มในเรื่องของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายเพื่อรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจโดยในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี2566 นี้ คาดว่า เม็ดเงินสะพัดจะใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิด อยู่ที่ประมาณ 100,000 ล้านบาทได้ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.4
อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงมองสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด 19 อัตราเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศและทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างประเทศรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติมยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ภาคธุรกิจโดยทั่วไปและการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสที่จะบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคตได้ในช่วงสั้นนี้
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับ 43.9 ทั้งนี้เป็นผลมาจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด 19 และแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน สศช. เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 4.5 พร้อมทั้งปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากเดิมร้อยละ 2.7-3.2 ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลดลง ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือส่งตัวในระดับที่ดีโดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น
ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยในอนาคตปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น เดือนที่ 8 มาอยู่ที่ระดับ 44.4 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการภาคธุรกิจมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐแก้ไขในเรื่องของต้นทุนปัจจัยการผลิตของภาคธุรกิจ รวมถึงเสถียรภาพของค่าเงินบาท ให้เอื้อต่อธุรกิจส่งออก-นำเข้า ส่งเสริมกระตุ้นการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศเพื่อให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติจากสถานการณ์น้ำท่วมขังและน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัด ส่งเสริมกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เข้ามาใช้จ่ายภายในประเทศช่วงปลายปี และมาตรการรับมือกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย