กรุงเทพฯ 23 พ.ย. – หลายฝ่ายเห็นพ้องเร่งเครื่องเศรษฐกิจ BCG ทุกห่วงโซ่ ลดปัญหากีดกันทางการค้ายุคใหม่ ธปท.มุ่งผลักดันแบงก์ปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว กระทรวงพลังงาน เร่งเครื่องหนุนรถยนต์ไฟฟ้า
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา “ฝ่าวิกฤตพลังงาน สู่ความยั่งยืน” ว่า การผลิตไฟฟ้าให้มากที่สุด ในรูปแบบผู้ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพราะต้องการไฟฟ้าทดแทนมากขึ้น ไม่เช่นนั้นหากส่งสินค้าไปยุโรป อเมริกา จะโดนตีกลับหมด ภาครัฐจึงต้องออกกฎระเบียบมารองรับ เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต้องทำให้ได้ร้อยละ 30 นับว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ยอดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว จึงต้องส่งเสริมการพัฒนาแบตเตอรี่ และอุปกรณ์ด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดูแลปัญหาเงินเฟ้อ การฟื้นเศรษฐกิจ ต้องไม่ให้สะดุด แต่ในระยะยาว ธปท. ยังให้ความสำคัญ 3 ด้าน คือ 1. การดูแลหนี้ภาคครัวเรือน เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาสังคม เตรียมประกาศแผนออกมาในเร็วๆ นี้ 2. การผลักดันสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นับเป็นเรื่องสำคัญมาก 3. การปรับเข้าสู่เศรษฐกิจ BCG กระแสโลกกำลังให้ความสำคัญ ธปท.พร้อมยกระดับเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพื่อเสถียรภาพการเงินโลก หากลูกหนี้ไม่เติบโต สถาบันการเงินจะโตไม่ได้ สถาบันการเงินจึงต้องมีส่วนร่วมเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจ BCG
ที่ผ่านมามักจะพูดถึงความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ แต่ขณะนี้ต้องหันมาพูดถึงความเสี่ยงจากปัญหาโลกร้อน เพราะกระทบไปยังทุกส่วน ต้องรู้จักบริหารความเสี่ยง เปลี่ยนแปลงอย่างไร ต้องร่วมกันสร้างกิจกรรมสีเขียว ต้องระวังว่าอะไรสีเขียว ปัจจัยอะไรเหลือง หรือแดง จนสร้างความเสี่ยงต่อระบบ เพื่อสร้างเป็นโรดแมปให้กับภาคส่วนต่างๆ เดินตามไปด้วยกัน เมื่อวัดได้แล้ว ต้องนำไปสู่การจัดสรรเงินทุนให้กับภาคเอกชนหรือองค์กรต่างๆ ทุกส่วนจึงต้องนำภาคเอกชนเดินไปในแนวทางเดียวกัน หากปล่อยให้เอกชน หรือประชาชนสร้างของเสีย จะเพิ่มความเสี่ยงสูงมาก เพราะจะโดนกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ จากประเทศคู่ค้า เอกชนและภาครัฐต้องจับมือกัน ผลักดันเอกชนปรับตัว หากปฏิบัติตามหลัก BCG จะได้รับการปล่อยกู้
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การแสดงความจำนงไปสู่ Net Zero ในปี 2065 และคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 ภาครัฐให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก จึงมอบนโยบายไปยังทุกกระทรวง หลายกระทรวงจึงได้เดินไปตามแผนดังกล่าว อย่างเช่น กระทรวงพลังงาน มุ่งส่งเสริมพลังงานสะอาด กระทรวงทรัพยากรฯ มุ่งสร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น จึงส่งเสริมให้เอกชนมาร่วมปลูกป่า ผ่านแนวทางคาร์บอนเครดิต เป็นมาตรการหลักที่ต้องการส่งเสริม และยังต้องร่วมกันลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านหลายมาตรการ การสร้างพลังงานจึงต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร ต้องมีส่วนร่วม จึงต้องสร้างนโยบาย และออกมาตรการภาคบังคับให้ทุกภาคส่วนดำเนินการตามนโยบาย มีการวัดผลอย่างชัดเจน. – สำนักข่าวไทย