กรุงเทพฯ 9 พ.ย.-ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ลุ้นหากถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จะมีเงินสะพัดกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท มาจากเงินพนันบอลกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินสะพัดในระบบกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปีที่สำรวจมา เชื่อบรรยากาศจับจ่ายคึกคัก แต่หากไม่ถ่ายทอดสด เงินจะหายไป 5,000-10,000 ล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ว่า คาดว่าหากมีการถ่ายทอดสด จะมีเงินสะพัด 75,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.2% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเทศกาลฟุตบอลโลก ปี 2018 ที่มีเงินสะพัด 76,897 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นวงเงินที่ใช้จ่ายถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ออกไปสังสรรค์ ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์รับสัญญาณ ซื้อเสื้อบอล การแต่งตัว 18,561 ล้านบาท ซึ่งมากสุดในรอบ 5 ปีที่สำรวจมา โดยมากกว่าช่วงฟุตบอลโลก ปี 2018 ที่มีเงินสะพัดในระบบ 17,901 ล้านบาท และสูงกว่าฟุตบอลยูโร ปี 2020 โดยประเมินว่าจะมีตัวทวีทำให้มีเม็ดเงินหมุนในระบบเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 35,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีอีกส่วน 57,253 ล้านบาท เป็นเงินนอกระบบหรือพนันบอล ซึ่งมากกว่าเม็ดเงินในช่วงฟุตบอลยูโร ปี 2020 แต่ยังต่ำกว่าช่วงฟุตบอลโลก ปี 2018 ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงเพิ่งฟื้น โดยพบว่าส่วนใหญ่ 60% เล่นตามกระแสและเล่นเพื่อความสนุกกับหมู่เพื่อน ที่เหลือเป็นการตั้งใจเล่นเพื่อหาเงิน ซึ่งในส่วนนี้มีสัดส่วนมากขึ้นอย่างมีนัย และจะมีเงินบางส่วนไหลออกนอกประเทศจากการเล่นผ่านเว็บพนันต่างประเทศ ทั้งนี้ พบว่าเงินที่ใช้เล่นพนันบอลตลอดการแข่งขันอยู่ที่ราว 21,580 บาท หรือเฉลี่ย 1,416 บาท/นัด และได้ประเมินว่าจะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 0.3-0.5% ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 โตในช่วง 4-4.5% ดันให้จีดีพีทั้งปีขยายตัวตามเป้าที่ 3-3.5%
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่าเม็ดเงิน 1,600 ล้านบาท ที่จะต้องจ่ายเพื่อซื้อลิขสิทธิ์นั้นคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจจะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนกลับคืนสู่รัฐบาลในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหลัก 10,000 ล้านบาท กลับคืนสู่รัฐบาลและเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชน แต่หากไม่มีการถ่ายทอดสดก็จะทำให้เงินหายไปในระบบเศรษฐกิจ 5,000-10,000 ล้านบาท โดยรอต้องลุ้นผลการพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันนี้ที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย