กรุงเทพฯ 1 พ.ย.-กรุงเทพมหานคร จับมือ GC ร่วมพัฒนาพื้นที่บริเวณศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช บนพื้นที่ 55 ไร่ ภายใต้โครงการปลูกต้นไม้ “ยิ่งปลูก ยิ่งดี” พัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบ ปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อคนกรุงเทพฯ และเป็นกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมเปิดตัว โครงการ “ยิ่งปลูก ยิ่งดี” ปลูกป่าสร้างพื้นที่ สีเขียวในรูปแบบป่านิเวศบนพื้นที่ 55 ไร่ ในพื้นที่บ่อขยะเดิมบริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช แขวงประเวศ กรุงเทพฯ
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญ ที่ควรตระหนักถึงสิ่งที่จะส่งผลในอนาคต ซึ่งการจัดโครงการปลูกต้นไม้ “ยิ่งปลูกยิ่งดี” เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นการที่ GC ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่บริเวณศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เพื่อนำพื้นที่หลุมฝังกลบขยะที่ปิดการใช้งาน 12 ปี มาดำเนินการปลูกป่า 55 ไร่ และเป็นการศึกษา พร้อมทั้งพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบในการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต นับว่าเป็นการสนองตอบนโยบายของกรุงเทพมหานครในการปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ที่สร้างสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ ให้กับชาวกรุงเทพมหานครได้ดียิ่งขึ้น

นายคงกระพัน กล่าวว่า โครงการ “ยิ่งปลูก ยิ่งดี” เพื่อช่วยกันปลูกต้นไม้ มีวัตถุประสงค์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยปี 2065 และยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของกรุงเทพมหานครในการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น และยังสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของ GC ที่บูรณาการความยั่งยืน (ESG) ภายใต้ความสมดุล ทั้ง 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ โดย GC ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050
การปลูกป่าครั้งนี้ สามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ยปีละ 165 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และจะปลดปล่อยออกซิเจนให้กับบรรยากาศได้โดยเฉลี่ยปีละ 120 ตัน ออกซิเจน ร่วมฟื้นฟูพื้นที่ฝังกลบขยะมาเป็นเวลานานที่มีสภาพพื้นที่และสภาพดินที่มีความเสื่อมโทรมให้กลับฟื้นเป็นพื้นที่ป่าสีเขียว เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง GC, กทม. และผู้เชี่ยวชาญจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ .–สำนักข่าวไทย