กรุงเทพฯ 22 ก.ย.- “วิรัตน์” วางรากฐาน ส่งไม้ต่อ ซีอีโอ ไทยออยล์คนใหม่ ทรานส์ฟอร์มธุรกิจผ่านกลยุทธ์ 3V’s ชี้ค่าการกลั่นติดลบ “ชั่วคราว”คาดทั้งปี 7-8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เตรียมประกาศโครงการร่วมทุน “CAP2” ปลายปีนี้ ไม่หวั่นเศรษฐกิจถดถอย มั่นใจ CFP เสร็จปี 2025 รายได้ดีเหตุ “ Golden Period” โรงกลั่น
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ รวมไปถึงปีหน้าจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องคาดในกรอบ 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเริ่มกลับมาสู่ช่วงระดับก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด ขณะที่สงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ยืดเยื้อ มีปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ราคาพุ่งและผันผวนในระดับสูง
ส่วนค่าการกลั่นที่ ช่วงนี้อยู่ในภาวะติดลบ นั้น นายวิรัตน์ ชี้ว่าจะเห็นได้ว่า ธุรกิจนี้มีความไม่แน่นอนช่วงไตรมาส2 /65 นับเป็นช่วงสถิติค่าการกลั่นสูงสุด อย่างไรก็ตาม คาดว่า ช่วง ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ค่าการกลั่นจะกลับมาเพิ่มขึ้น จึงเชื่อว่า ครึ่งหลังของปีค่าการกลั่นยังเป็นบวก แต่จะอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าครึ่งปีแรกที่ค่าการกลั่น(GRM)อยู่ที่ 10 เหรียญ/บาร์เรล และค่าการกลั่นรวม (GIM )อยู่ที่ประมาณ 17 เหรียญ/บาร์เรล และคาดทั้งปี 65 แล้วค่าการกลั่นจะอยู่ที่ราว 6-7 เหรียญ/บาร์เรล ส่วน GIM จะไม่ต่ำกว่า 7-8 เหรียญ/บาร์เรล นับว่าเป็นปีที่ดีมาก เมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 ที่ปี2564 ค่าการกลั่นอยู่ที่ราว 2.20 เหรียญ/บาร์เรล
“ในช่วง 1-2 ปีจากนี้เป็นปีที่ดีมากสำหรับธุรกิจน้ำมัน เพราะความต้องการใช้โตขึ้นมาก กำลังกลั่นของไทยออยล์ มากกว่า 100% น้ำมันเครื่องบินช่วงโควิด-19 ลดการกลั่นจากสัดส่วน 20 % เหลือ 6 % ขณะนี้ กลั่นเพิ่มเป็นกว่า 10 % และจากช่วงโควิดทั่วโลกไม่ขยายกำลังกลั่น เชื่อว่าช่วงโครงการพลังงานสะอาด (CFP)ของบริษัทเสร็จ ในปี67-68 เป็นช่วงปีทองหรือ Golden period ของธุรกิจกลั่น จะสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อบริษัท เป็นช่วงที่ยังทำกำไรเอามาต่อยอดในธุรกิจได้ ”นายวิรัตน์กล่าว
ทั้งนี้ CFP เป็นโครงการที่เพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นจาก 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน สนับสนุนกลยุทธ์ Value Maximization เพื่อสร้างเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการต่อยอดไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง(High Value Product หรือ HVP) CFP มีความคืบหน้าอยู่ที่ 87% และคาดว่าจะสามารถทยอยเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 และ สามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบในปี 2568
ส่วนอีก 2V ตามแผนกลยุทธ์ 3V’s คือ Value Diversification กลยุทธ์กระจายการเติบโตสู่ธุรกิจที่มีความมั่นคงของผลกำไร เช่น ธุรกิจไฟฟ้า การแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ผ่านการลงทุนในสตาร์ทอัพ และ Value Enhancement กลยุทธ์การขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค เน้นตลาดที่มีความต้องการสูง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย รวมถึงเพิ่มโอกาสการลงทุนในประเทศเหล่านี้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น
นายวิรัตน์ ซึ่งจะเกษียณอายุ ในวันที่ 30 ก.ย. 65 กล่าวว่า เชื่อมั่น ว่า ซีอีโอคนใหม่จะสานต่องาน ที่ ไทยออยล์ ได้เตรียมแผนทรานส์ฟอร์มธุรกิจผ่านกลยุทธ์ 3V’s ดังกล่าว และจะทำให้ ไทยออยล์สุ่อายุ 100 ปี จากปัจจุบัน 61 ปี อย่างยั่งยืนรายได้กำไรหลักไม่ใช่มาจากธุรกิจการกลั่นแต่จะมาจากธุรกิจใหม่ที่กำลังขยายตัว ทั้งปิโตรเคมี และอื่นๆ โดยวางแผนไว้ว่าภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 กำไรจะมาตาก โรงกลั่น 40% ปิโตรเคมี 40%ไฟฟ้า 10 %และธุรกิจใหม่ 10 % โดยจะมีการลงทุนราว 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการลงทุนสร้าง New S-Curveเช่น ธุรกิจชีวภาพ ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Bio-Jet), ชีวเคมี (Biochemicals),พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics),เทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ การเดินทางและการขนส่ง เช่น โครงการผลิต “ไฮโดรเจนสีเขียว” ความบริสุทธิ์สูง (Green Hydrogen) และ เทคโนโลยีการดักจับ และ การใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) การจัดตั้งCorporate Venture Capital (CVC)ร่วมลงทุนใน Start-ups ที่น่าสนใจทั่วโลก โฟกัส 3 กรอบธุรกิจ ได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน, เทคโนโลยีด้านการทดแทนการใช้น้ำมันและและเทคโนโลยีสนับสนุนอุตสาหกรรมและการผลิต
ส่วนความคืบหน้าโครงการ CAP (PT Chandra Asri Petrochemical Tbk ) บริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งไทยออยล์ได้ร่วมลงทุนตั้งแต่ปี64ทำให้สร้างรายได้และก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินได้อย่างรวดเร็วครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียม-ปิโตรเคมี ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตอีกด้วยบริษัทฯคาดว่าโครงการขยายกำลังการผลิต CAP2 กำลังผลิต 8.1-8.2 ล้านตัน จะมี Final Investment Decision (FID) ภายในไตรมาส 4 ปี 2565 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2569 โครงการนี้จะลงทุนรวม 5,000 ล้านเหรียญ ซึ่งการลงทุนเช่นนี้ใช้เวลาก่อสร้างหลายปี จึงเป็นการเตรียมพร้อมอนาคตแม้ตลาดคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะถดถอย
โดยการลงทุนใน CAP นั้นไทยออยล์ถือหุ้นร้อยละ 15 ด้วยวงเงินลงทุน 913 ล้านเหรียญ กำลังผลิตปัจจุบัน 4.3 ล้านตัน/ปี ส่วน หากลงทุน CAP2 ทางไทยออยล์เตรียมวงเงินร่วมลงทุนอีก 270 ล้านเหรียญ เงินส่วนนี้มาจากขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน แก่ถือหุ้นเดิม นักลงทุนสถาบันและรายย่อย ราคาเสนอขาย 53.50 บาทต่อหุ้น และเตรียมนำหุ้นสามัญเพิ่มทุนเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 30 กันยายนนี้ ช่วยยกระดับโครงสร้างเงินทุนห้แข็งแกร่งและมีความคล่องตัวมากขึ้นในการขยายธุรกิจ สร้างการเติบโตครั้งใหม่ตามแนวทาง New Round of Growth เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการก้าวสู่ผู้นำด้านพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย