กรุงเทพฯ 16 ส.ค.- อธิบดีกรมชลประทานระบุ ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์แบบขั้นบันได แต่ยังคงปริมาณการระบายจากเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเดิมตามแนวทางจัดจราจรน้ำของพื้นที่ที่เชื่อมโยงกันเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาด้านท้าย
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า จากคาดหมายลักษณะอากาศ 7 วันของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 16-21 สิงหาคมจะยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกทั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนป่าสัก จ. ลพบุรีและเขื่อนเจ้าพระยา จ. ชัยนาทที่ยังคงมีน้ำจากทางตอนบนไหลลงสู่เขื่อน ทำให้กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักที่น้ำมากกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำตั้งแต่วันนี้ (16 ส.ค.) เพื่อควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม โดยปรับเพิ่มเป็น 170.25 ลบ.ม.ต่อวินาทีหรือ 14.70 ล้านลบ.ม.ต่อวัน จากเมื่อวานนี้ซึ่งระบายที่ 160.57 ลบ.ม.ต่อวินาทีหรือ 13.87 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ขณะที่น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำวัดได้เช้านี้ 23.24 ล้านลบ.ม.ต่อวันมากกว่าเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 22.01 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมี 459.05 ล้านลบ.ม. เทียบกับความจุ 960 ล้านลบ. ม. คิดเป็น 47.82%
ทั้งนี้จะย้ำให้สำนักงานชลประทานที่ 10 บริหารจัดการน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำป่าสักในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนให้น้อยที่สุด รวมถึงวางระบบการแจ้งเตือนให้พื้นที่เสี่ยงให้รับทราบล่วงหน้าก่อนระบายน้ำเพิ่ม
พร้อมย้ำว่า จะทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดและเป็นไปตามเกณฑ์การบริหารอ่างเก็บน้ำ (operations rule curve) ซึ่งจะพิจารณาร่วมกับแผนการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและท้ายเขื่อนพระราม 6 เพื่อจัดจราจรน้ำระหว่างทั้ง 3 เขื่อนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาด้านท้าย
สำหรับเขื่อนเจ้าพระยาคงการระบายน้ำต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แล้วที่อัตรา 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่อัตราการะบายดังกล่าว ยังคงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ประกอบกับมีฝนตกลงมาในพื้นที่ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำที่อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.เสนา อ.ผักไห่ และ อ.ท่าเรือ จ. พระนครศรีอยุธยาซึ่งกำชับโครงการชลประทานในพื้นที่เร่งเสริมคันกั้นน้ำและสูบระบายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร.-สำนักข่าวไทย