พิจิตร 22 ม.ค. – กรมหม่อนไหมหนุนอนุรักษ์ “ผ้าซิ่นตีนจกลาวครั่ง” มรดกทางวัฒนธรรมสุดท้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือตอนล่าง ส่งเสริมการออกแบบลวดลาย พร้อมหาตลาดรองรับ
นายศรัญญู พูลลาภ รองอธิบดีกรมหม่อนไหมเปิดเผยว่า ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ตาก สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 1 ร่วมขับเคลื่อนการอนุรักษ์ “ผ้าซิ่นตีนจกลาวครั่ง” ซึ่งเป็นลายผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นลายผ้าโบราณที่เกิดจากหมู่ บ้านสระยายชี ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งซึ่งอพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง ช่วงรัชกาลที่ 1
ทั้งนี้ชาวบ้านยึดอาชีพทอผ้าไหม-ผ้าฝ้ายเสริมจาการทำนา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสุดท้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือตอนล่างที่ยืนหยัดมากว่า 2 ศตวรรษ
นายศรัญญูกล่าวต่อว่า กรมหม่อนไหมจะส่งเสริมและพัฒนา ด้วยการฝึกอบรมการทอ การออกแบบลวดลาย การรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน ตลอดจนสนับสนุนปัจจัยการผลิต และจัดตั้งธนาคารเส้นไหม โดยได้รับงบประมาณจากกรมหม่อนไหม มีสมาชิก 24 ราย สมาชิกได้ใช้ประโยชน์จากธนาคารเส้นไหม มีงานทำและมีรายได้ต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่มประมาณ 100,000 บาท พร้อมกันนี้จัดทำแผนสนับสนุนด้วยการจัดหาช่องทางการจำหน่าย พัฒนาลวดลายให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนต่อไป.-สำนักข่าวไทย