กรุงเทพฯ 2 พ.ค. – รมว. เกษตรฯ สั่งชลประทานคุมเข้มการจัดสรรน้ำรับแล้งช่วงโค้งสุดท้าย เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนปลายเดือนพ.ค. ย้ำจะต้องลดการส่งน้ำในพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว พร้อมจัดรอบเวรรับน้ำอย่างเคร่งครัด กรมชลประทานขออย่าทำนาปรังรอบ 2 เหตุต้องสงวนสำหรับอุปโภคบริโภค พร้อมเร่งแก้ค่าความเค็มจุดสูบน้ำดิบสำแลที่ส่งน้ำเข้าระบบประปาของกทม. และปริมณฑล
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สั่งการให้กรมชลประทานคุมเข้มการจัดสรรน้ำในระยะนี้เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคมซึ่งช้ากว่าค่าปกติ 1-2 สัปดาห์ ขณะนี้อุณหภูมิหลายพื้นที่ยังสูงอยู่มาก อีกทั้งภาวะโลกเดือดส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของทั่วโลกสูงขึ้นซึ่งไทยได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้นคนไทยต้องปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเพาะปลูกในฤดูแล้งซึ่งต้องปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือทำเกษตรประเภทอื่นทดแทนการทำนาซึ่งใช้น้ำมาก โดยกระทรวงเกษตรฯ จะส่งเสริมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อรายได้
ตั้งแต่เข้าสู่ฤดูแล้ง ได้ขอความร่วมมือมาตลอดว่า เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว ขอความร่วมมืองดทำนาปรังรอบ 2 โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาเนื่องจากกรมชลประทานจะลดการส่งน้ำเข้าระบบเพื่อสงวนน้ำไว้ใช้สำหรับรักษาระบบนิเวศและอุปโภคบริโภค เมื่อฝนจะมาช้าอาจต้องพิจารณาจัดรอบเวรรับน้ำเพื่อให้มีน้ำต้นทุนเพียงพอจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน รวมถึงสำรองกรณีฝนทิ้งช่วงด้วย นอกจากนี้ยังสั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งทำฝนหลวงในพื้นที่ที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติการ ขณะที่กรมพัฒนาที่ดินต้องเร่งเจาะบ่อจิ๋วเพื่อคลี่คลายภัยแล้งด้วย
สำหรับระยะนี้เป็นช่วงท้ายของสภาวะเอลนีโญ โดยในฤดูฝนจะเข้าสู่สภาวะลานีญาทำให้ปลายฤดูจะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งขุดลอกแหล่งน้ำเพื่อรองรับฝนที่จะตกลงมาเพื่อเก็บกักไว้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งต่อไป
นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยากล่าวว่า ชาวนาทุ่งลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 11 ทุ่งสามารถทำนาปีได้แล้วตั้งแต่วานนี้ (1 พ.ค.) แต่พื้นที่ดอน ขอให้รอน้ำฝนเป็นหลัก นอกจากนี้ยังพบว่า เกษตรกรบางส่วนที่เก็บเกี่ยวนาปรังไปแล้ว จะปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 เพื่อให้สามารถทำนาได้อีกครั้งช่วงกลางฤดูฝนซึ่งมีความเสี่ยงว่า ข้าวนาปรังรอบ 2 จะเสียหายจากการขาดน้ำ ส่วนนาปีที่ทำกลางฤดูฝนจะเก็บเกี่ยวไม่ทันช่วงน้ำหลาก จึงให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ทำนาปรังรอบ 2 เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้สำหรับรักษาระบบนิเวศและอุปโภคบริโภค
ขณะนี้ได้เพิ่มการระบายน้ำจากแม่น้ำท่าจีนมาลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อมาเจือจางค่าความเค็มที่เกิดขึ้นจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูงช่วง 25-30 เมษายนส่งผลให้วานนี้ค่าความเค็มของน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานีบางช่วงเวลาเกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่ 0.25 กรัมต่อลิตรและมาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปา 0.50 กรัมต่อลิตร โดยเช้านี้ (2 พฤษภาคม 2567) อยู่ที่ 0.65 กรัมต่อลิตร ช่วงที่ค่าความเค็มเกินมาตรฐานราว 12 ชั่วโมงซึ่งกรมชลประทานประสานกับการประปานครหลวงให้ลดการสูบน้ำเข้าระบบ โดยอีก 12 ชั่วโมงซึ่งค่าความเค็มไม่เกินมาตรฐาน ให้เพิ่มปริมาณการสูบเข้าระบบเพื่อเจือจางไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านรสชาติของน้ำประปาที่ส่งบริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
นอกจากนี้ยังได้เพิ่มการส่งน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยามาแล้ว เพื่อผลักดันน้ำเค็มช่วงน้ำทะเลหนุนสูงรอบใหม่ 10-11 พฤษภาคมนี้ ตลอดจนจะพิจารณาเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ด้วย สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำต้นทุนจำกัดจึงจะเพิ่มการระบายน้ำอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มั่นใจว่า การเตรียมระบายน้ำมาเพิ่มล่วงหน้าจะทำให้รับสถานการณ์ได้. 512 – สำนักข่าวไทย