กรุงเทพฯ 16 ม.ค. –“ธรรมนัส” ส่งที่ปรึกษากฎหมายและอธิบดีกรมปศุสัตว์ หารือ “ทวี” แสดงเจตนารมณ์พร้อมร่วมมือคลี่คลายคดีหมูและตีนไก่เถื่อน ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม ระบุการมาของอธิบดีกรมปศุสัตว์ ไม่ได้มาตามหมายเรียกหมายจับ เพราะไม่ใช่ผู้ต้องหา ด้านที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ชี้ข้าราชการ ก.เกษตรฯ ตกเป็นจำเลยสังคม ส่วนอธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุระหว่างเกิดความผิดปกติของการส่งออกตีนไก่ไปจีน ยังไม่ได้เป็นอธิบดี
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์เข้าพบพ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อหารือและแสดงความพร้อมในการส่งมอบพยานหลักฐานในคดีหมูและตีนไก่เถื่อน หากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำหนังสือขอมา
นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารมว. ยุติธรรมกล่าวว่า การเดินทางมาของอธิบดีกรมปศุสัตว์ไม่ได้เป็นการตามหมายเรียกหมายจับเพราะไม่ใช่ผู้ต้องหา แต่เป็นการมายืนยันว่า พร้อมร่วมมือคลี่คลายคดีซึ่งได้แจ้งแก่ดีเอสไอแล้ว ว่า หากต้องการพยานหลักฐานใดจากกรมปศุสัตว์ ให้ขอไปได้เลย นอกจากนี้ยังได้แจ้งถึงห้วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์ว่า เป็นช่วงระยะเวลาใด
นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ตกเป็นจำเลยสังคมจึงพร้อมร่วมมือในการทำความจริงให้ปรากฏ ไม่ได้ยืนยันว่า ไม่มีข้าราชการกระทำความผิด แต่หากพนักงานสอบสวนมีหลักฐานการกระทำผิดของใคร ให้จับกุมได้เลยเพราะผู้กระทำความผิด ต้องรับผลการกระทำนั้น
ทั้งนี้รมว. เกษตรฯ มอบหมายให้ตรวจสอบความผิดปกติของการส่งออกตีนไก่ไปจีนซึ่งพบความผิดปกติของบริษัทแห่งหนึ่งจริง โดยพบว่า ส่งออกในปริมาณมากกว่ากำลังการผลิตที่แจ้งแก่ฝ่ายจีนไว้ กรมปศุสัตว์ได้ระงับการส่งออกของบริษัทนี้ไปแล้ว พร้อมยืนยันว่า ห้วงเวลาที่พบความผิดปกติดังกล่าว อธิบดีกรมปศุสัตว์คนปัจจุบัน ยังไม่ได้มาดำรงตำแหน่ง
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ยืนยันว่า ไม่รู้จักนายหลี่ เซิ่งเจียวหรือ “เฮียเก้า” เป็นการส่วนตัว เป็นเพียงรู้จักในนามผู้แทนสมาคมการค้าแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยเอเชียและในฐานะผู้ประกอบการที่มาประสานกับกรมปศุสัตว์เกี่ยวกับการส่งออกให้เป็นไปตามข้อกำหนดของพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน ส่วนห้วงเวลาที่ทางการจีนแจ้งพบความผิดปกติในการส่งออกตีนไก่ ยังเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่
สำหรับการตรวจสอบของกรมปศุสัตว์เกี่ยวกับความผิดปกติในการส่งออก “ตีนไก่” ไปจีนในปี 2564 พบว่า บริษัทแห่งหนึ่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมความปลอดภัยอาหารนำเข้าและส่งออก สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Bureau of Import and Export Food Safety, The General Administration of Customs of People’s Republic of China : GACC) ส่งออกในปริมาณมากกว่ากำลังการผลิตที่บริษัทเคยแจ้งต่อ GACC โดยความผิดปกติเกิดขึ้นในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2564 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2564 GACC ส่งหนังสือมายังกรมปศุสัตว์ให้ตรวจสอบ กรมปศุสัตว์ตรวจสอบพบความผิดปกติของบริษัทดังกล่าวจริงจึงระงับการส่งออกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากรมปศุสัตว์ประสานกับ GACC ตรวจสอบการส่งออกสินค้าสัตว์ปีกอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้กระทบตลาดส่งออก ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2566 นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้เดินทางไปหารือกับผู้บริหาร GACC เกี่ยวกับระบบการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารส่งออกไปยังจีน (China Import Food Enterprise Registration system : CIFER) เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ผู้ปฏิบัติงานรวมถึงผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังจีน สามารถปฏิบัติตามระเบียบและขั้นตอนของ GACC ได้อย่างถูกต้อง
ผู้บริหารของ GACC ยังขอบคุณกรมปศุสัตว์ไทยที่ให้ความร่วมมือกำกับดูแลตรวจสอบสุขอนามัยการผลิตเนื้อและชิ้นส่วน รวมถึงผลพลอยได้สัตว์ปีกแช่แข็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามข้อกำหนดของพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน จนส่งผลให้การส่งออกเนื้อและชิ้นส่วนไก่แช่แข็งจากไทยมาจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ GACC ยังอนุญาตขยายขอบข่ายชิ้นส่วนและเครื่องในเป็ดจากไทยส่งออกมาจีนด้วย
ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ควบคุม กำกับ ดูแล กระบวนการผลิตไก่เพื่อการส่งออกตั้งแต่การฆ่า ชำแหละ ตัดแต่ง การขนส่ง จนกระทั่งการออกหนังสือรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) โดยมีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ตรวจสอบตลอดห่วงโซ่การผลิต สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนและเป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า
ปัจจุบันที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากประเทศจีนมี 22 แห่ง แต่จีนกำลังจะขึ้นทะเบียนเพิ่มให้อีก 2 แห่ง มูลค่าการส่งออกมากกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี ล่าสุดทางประเทศจีน เห็นชอบให้มีการขยายรายการผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนจากสัตว์ปีกเพื่อการบริโภค (รวมถึงอวัยวะภายใน) ได้รับอนุญาตให้ส่งออกจากประเทศไทยไปประเทศจีนอีกจำนวน 18 รายการ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการลงนามความตกลงเพื่อแก้ไขพิธีสารระหว่างไทย-จีน ในประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนสัตว์ปีกเพิ่มเติมมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดการณ์ว่า ตลาดการส่งออกชิ้นส่วนสัตว์ปีกไปยังประเทศจีนจะเติบโตขึ้นทุกปี อีกทั้งปัจจุบันยังไม่พบปัญหาอุปสรรคใดๆ ในด้านการตลาดกับประเทศจีนแต่อย่างใด.- 512 – สำนักข่าวไทย