สงขลา 5 ธ.ค. – วาฬเบลนวิลล์ ซึ่งเกยตื้นที่หาดสะกอม อ.เทพา จ.สงขลา ตายแล้ว แม้ทีมสัตวแพทย์ ทช. ช่วยชีวิตสุดความสามารถ หลังจากนำมาดูแลรักษาใกล้ชิด โดยวาฬเบลนวิลล์ตัวนี้เป็นตัวที่ 2 ที่พบในไทย
นายสัตวแพทย์ รัตนากร พากเพียร นายสัตวแพทย์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เย็นวานนี้ขนย้ายวาฬจากร่องน้ำบริเวณหาดสะกอม อ.เทพา มารักษาที่บ่อน้ำขนาดใหญ่ของจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัตว์น้ำ (NICA) อ.เมือง จ.สงขลา เนื่องจากสภาพพื้นที่และสภาพน้ำบริเวณที่ดูแลรักษาอยู่เดิมไม่เหมาะสม
ทั้งนี้ วาฬตัวผอมและไม่กินอาหาร ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานสัตว์ทะเลหายาก พยายามช่วยชีวิตจนสุดความสามารถแล้ว จึงตายลงในวันนี้ โดยสัตวแพทย์จะผ่าพิสูจน์ซากต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่จากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปะช้าง-แหลมขาม พบเกยตื้นอยู่ ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าเขาปะช้างได้ผลักดันออกไปในทะเล 3 ครั้ง แต่คลื่นซัดกลับมาเกยตื้นซ้ำบริเวณใกล้เคียง สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศวทล. ได้ไปตรวจสอบพบเป็น “วาฬเบลนวิลล์” (Blainville’s beaked Whale) ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายาก สภาพผอม ตัวยาวประมาณ 4 เมตร จึงให้ยาซึมเพื่อเคลื่อนย้ายมาบริเวณร่องน้ำด้านใน
ต่อมาให้ยาลดการอักเสบ ยาฆ่าเชื้อ และให้น้ำเกลือ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำส่งตรวจ วาฬมีอาการคงที่จึงได้ให้อาหารเหลวและเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
ศวทล. เห็นว่าสภาพพื้นที่และน้ำไม่เหมาะสมต่อการดูแลรักษา เจ้าหน้าที่ประสานงานขอความช่วยเหลือกำลังคนจากหน่วยงานเขตห้ามล่าเขาปะช้าง-แหลมขาม กู้ภัย อบต.สะกอม และ อ.จะนะ
นอกจากนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัตว์น้ำ (NICA) อ.เมือง จ.สงขลา ให้ใช้พื้นที่บ่อขนาดใหญ่ในการดูแลรักษาวาฬเบลนวิลล์ ทีมสัตวแพทย์ให้ยาซึมก่อนขนย้ายด้วยรถหกล้อ เพื่อลดความเครียดของตัวสัตว์ ใช้เวลาขนย้ายประมาณ 1 ชั่วโมง จึงมาถึงพื้นที่ใหม่ แต่ตายลงในเวลาต่อมา
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า วาฬเบลนวิลล์ถูกพบในประเทศไทยเพียงครั้งเดียว ซึ่งเกยตื้นที่บ้านอ่าวน้ำบ่อ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 จนกระทั่งพบครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 วาฬชนิดนี้อยู่ในวงศ์ Ziphiidae หากโตเต็มที่ยาวได้ถึง 4.7 เมตร หนักประมาณ 1 ตัน เพศเมียใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย ลูกแรกเกิดยาว 2.0-2.5 เมตร รูปร่างเป็นทรงกระสวย ยาว ส่วนหัวมีขนาดเล็ก มีร่องตื้นๆ ใต้คาง 1 คู่ ตัวเต็มวัยมีจะงอยปากยาว ขากรรไกรล่างโค้งขึ้นคล้ายซุ้มประตูในทุกเพศทุกวัย ในเพศผู้ตัวเต็มวัยจะมีขนาดใหญ่ ลำตัวสีน้ำตาล หรือน้ำเงินเทา ส่วนท้องมีสีจาง รอบดวงตาเป็นวงสีดำเข้ม ตัวเต็มวัยมีรอยวงรีหรือวงกลมสีขาวกระจายไปทั่ว มีรอยขีดข่วนเป็นคู่ๆ ซึ่งมักจะเป็นเพศผู้
เพศผู้มีเขี้ยวงอกที่ขากรรไกรล่างตรงจุดที่สูงสุดของส่วนโค้ง และปลายของเขี้ยวจะยื่นยาวเหนือขากรรไกรบน ช่องหายใจเป็นรูปเสี้ยวปลายชี้ไปด้านหน้า อยู่ตรงกลางหัว ครีบหลังมีขนาดเล็ก ตั้งอยู่ 2/3 ของความยาวลำตัว ปกติอยู่เพียงลำพัง หรือเป็นคู่ แต่อาจรวมฝูง 3-7 ตัว เหมือนกับฮาเร็ม โดยมีเพศผู้เพียงตัวเดียวและเพศเมียหลายตัว
อาหารหลักคือปลาหมึก แต่ก็กินปลาน้ำลึกเป็นอาหารด้วยเช่นกัน โดยการดูดอาหารที่อยู่ใกล้ๆ เข้าไปในปาก (Suction feeder) การแพร่กระจายค่อนข้างกว้าง ในเขตร้อนและเขตอบอุ่น พบไกลฝั่งบริเวณที่มีน้ำลึกประมาณ 200-1,000 เมตร.-512-สำนักข่าวไทย