กรุงเทพฯ 30 พ.ย. – รมว.เกษตรฯ นำชุดเฉพาะกิจ “พญานาคราช” เปิดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” ป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิด ลุยตรวจตู้คอนเทนเนอร์สินค้านำเข้าที่สำแดงเป็นสินค้าประมงที่ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากร ท่าเรือกรุงเทพฯ
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการพิเศษของชุดเฉพาะกิจ“พญานาคราช” โดยมีนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเกษตรและสหกรณ์ร่วมในพิธี โดยจากนี้ไปพร้อมปฏิบัติการทั่วประเทศ
สำหรับที่ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากร ท่าเรือกรุงเทพฯ วันนี้ชุดเฉพาะกิจพญานาคราชร่วมกับสารวัตรประมง สารวัตรปศุสัตว์ และสารวัตรเกษตรเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์สินค้านำเข้าที่สำแดงเป็นสินค้าประมง จากที่ก่อนหน้านี้ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนใช้วิธีสำแดงเป็นสินค้าประมงเนื่องจากเนื้อหมูเป็นสินค้าที่ไม่อนุญาตให้นำเข้า
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า กรมประมงยกระดับกระบวนการตรวจสอบสินค้าประมงนำเข้าในทุกขั้นตอน โดยเมื่อตู้สินค้าที่สำแดงเป็นสินค้าประมงผ่านการเอกซเรย์แล้ว ด่านตรวจประมงเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการตรวจสอบนำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวด เปิดตรวจสินค้าสัตว์น้ำแช่แข็งนำเข้า 100 % จากเดิมจะสุ่มเปิดตรวจ 30 % โดยกำหนดไว้ 2 ขั้นตอนคือ
(1) การเปิดตรวจ ณ ด่าน หรือ ท่าเทียบเรือ
(2) การตรวจสอบ ณ สถานประกอบการ (โรงงานหรือห้องเย็น) ด้วยการซีล (Seal) ตู้คอนเทนเนอร์ไปยังสถานประกอบการ เพื่อควบคุมและตรวจสอบคัดแยกชนิดและปริมาณที่นำเข้าจริงตรงตามที่สำแดงในเอกสารจนมั่นใจว่า สินค้าสัตว์น้ำนั้นเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต จึงจะอนุญาตให้เข้าสู่กระบวนการผลิตหรือจำหน่ายต่อไป
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้มาควบคุมดูแลการป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อนในนามชุดพญานาคราช จากนี้ไปกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมาทำงานภายใต้ชุดพญานาคราช โดยตนเองได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้กำกับการดำเนินคดีหมูเถื่อนที่เป็นคดีพิเศษของดีเอสไอด้วย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพไทย สำนักงานอัยการสูงสุด กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมวิชาการเกษตร
พร้อมระบุว่า ชุดเฉพาะกิจชุดนี้ มีอำนาจตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยว่า มีสินค้าเกษตรเถื่อนโดยไม่จำเป็นต้องมีหมายศาล สำหรับห้องเย็นต้องมาขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 ธันวาคม หลังจากนั้นจะปูพรมตรวจสอบทั่วประเทศ
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมงกล่าวว่า สั่งการให้ด่านประมงทุกด่านเพิ่มความเข้มงวดในการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะที่สำแดงเป็นสินค้าประมง โดยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบตั้งแต่ด่านนำเข้าจนถึงสถานที่เก็บรักษา
นอกจากนี้กรมประมงได้ออกประกาศ ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 แจ้งขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบกิจการห้องเย็นเก็บรักษาสัตว์น้ำ ที่ยังไม่ได้แจ้งการประกอบกิจการต่อกรมประมง ให้มาแจ้งต่อกรมประมง ณ สำนักงานประมงจังหวัดหรือประมงอำเภอในพื้นที่ จนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2566 เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าประมงที่ผิดกฎหมาย
ส่วนที่ก่อนหน้านี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนพบว่า ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนใช้วิธีสำแดงเท็จเป็นสินค้าสัตว์น้ำและพอลิเมอร์ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประสานจะมีการบูรณาการประสานกับดีเอสไอและ ปปง. เพื่อขอข้อมูล หากตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่รายใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำสินค้าทุกชนิดเข้าสู่ประเทศอย่างผิดกฎหมาย กรมประมงจะดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างถึงที่สุด
สำหรับในปี 2565 มีการนำเข้าสินค้าประมงปริมาณ 2.19 ล้านตัน มูลค่า 158,431 ล้านบาท โดยสินค้านำเข้าหลักได้แก่ ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณ 808,539 ตัน ทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง 727,709 ตัน หมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง 182,049 ตัน เพื่อบริโภคภายในประเทศและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้มีการสุ่มเปิดตรวจสินค้า พบการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 6 คดีในปี 2565 และพบการกระทำผิด 9 คดี ในปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ย. 66) โดยส่วนใหญ่เป็นคดีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
จากนี้ไปกรมประมงซึ่งแต่งตั้งชุดปฏิบัติการ “ฉลามขาว” จะร่วมขับเคลื่อนการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย.- สำนักข่าวไทย – 512