กรุงเทพฯ 17 ก.ค.- กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและสวก. เปิดตัวโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อลดต้นทุนการผลิต นำร่องใน 9 จังหวัดก่อนขยายผลครอบคลุมทั่วประเทศ เตรียมส่งชิงรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award ในวันดินโลกประจำปี 2566
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมวิชาการเกษตรจัดทำโครงการ “ขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร” โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสวก. ประเภทการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ จึงเห็นว่า หากส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตและใช้แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า งานวิจัยเกี่ยวกับแหนแดงเป็นความสำเร็จของกรมวิชาการเกษตร โดยพัฒนาสายพันธุ์แหนแดงซึ่งเป็นเฟิร์นลอยน้ำชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพ เนื่องจากมีกระบวนการตรึงไนโตรเจนของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง ทำให้แหนแดงมีประโยชน์ในด้านทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน โดยแหนแดงสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นคือ สายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ขึ้นมีลักษณะเด่นคือ มีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว
ทั้งนี้ประเทศจีนและเวียดนามมีการใช้แหนแดงในนาข้าวมาเป็นเวลานานนับร้อยปี สำหรับประเทศไทย กรมวิชาการเกษตรได้เริ่มศึกษาประสิทธิภาพของแหนแดงตั้งแต่พ.ศ. 2520 พบว่า การปลูกข้าวโดยใช้ แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดในช่วงก่อนปักดำ สามารถให้ผลผลิตข้าวได้เทียบเท่ากับการใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 10.5 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแหนแดงที่เจริญเติบโตบนผิวน้ำในนาข้าว 1 ไร่ จะให้ผลผลิตถึง 3,000 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถเพิ่มน้ำหนักเป็น 2 เท่าได้ในระยะเวลาเพียง 2–3 วัน ให้ไนโตรเจนได้ประมาณ 6–7.5 กิโลกรัมต่อไร่
สำหรับความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าว มุ่งหวังให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจสามารถผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้แหนแดงจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างดินดีขึ้นในระยะยาว เป็นการช่วยดูแลฟื้นฟูทรัพยากรดิน สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลการผลิตและใช้แหนแดงผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัดพบว่า มีการส่งเสริมการผลิตและใช้แหนแดงในพื้นที่ 743 อำเภอ ใน 73 จังหวัด โดย 96% ใช้ในนาข้าว อาหารสัตว์ ปุ๋ยพืชสด และใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปลูก ตามลำดับ ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตร รับองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับแหนแดงโดยตรงจากนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร และขยายผลสู่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร นำร่องในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี สมุทรสงครา ระยอง กาฬสินธุ์ สุรินทร์ พังงา พัทลุง กำแพงเพชร และพะเยา ดำเนินการผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่ได้รับรางวัลดีเด่นในการประกวด ศดปช. ระดับเขต หรือระดับจังหวัด ในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็น ศดปช. ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการขยายผลสู่ชุมชน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวย้ำว่า จะนำโครงการ “ขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร” ส่งชิงรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award ในวันดินโลกประจำปี 2566 โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO กำหนดให้ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นดินที่ดีจึงไม่เพียงจำเป็นสำหรับปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสู่อนาคตที่ยั่งยืนอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย