ชัยนาท 9 ก.ค.- อธิบดีกรมชลประทานชลประทานลุ่มเจ้าพระยาบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน 66 แบบ 2 มิติอย่างเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยพร้อมรับสถานการณ์น้ำแล้งและน้ำหลากเนื่องจากตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 50% แต่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. นี้ ฝนจะตกชุกหนาแน่นและมีโอกาสที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนผ่านไทยและอาจเกิดน้ำหลากหรือท่วมฉับพลันบางพื้นที่
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66 บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยกำชับโครงการชลประทานทุกแห่งในพื้นที่ว่า ต้องบริหารจัดการน้ำ 2 มิติแบบเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยพร้อมรับสถานการณ์น้ำแล้งและน้ำหลากไปพร้อมๆ กัน
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติ อีกทั้งปีนี้เข้าสู่ฤดูฝนช้า เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ปริมาณฝนช่วงต้นฤดูยังคงต่ำกว่าค่าปกติ ผลการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 2 กรกฎาคม 2566 โดยกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ภาคกลางมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 50 ทำให้ปริมาณน้ำท่าในลำน้ำสายหลัก ลำน้ำสาขา และแหล่งน้ำต่างๆ มีน้อย ขณะนี้เข้าสู่สภาวะเอลนีโญแล้ว ตลอดจนเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง แต่คาดว่า หลังวันที่ 17 กรกฎาคม ฝนจะเริ่มกลับมาตกกระจายอีกครั้ง
กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งด้วยว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีโอกาสสูงที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลับ และน้ำล้นตลิ่งได้
ทั้งนี้ได้เน้นย้ำโครงการชลประทาน โครงการก่อสร้าง รวมไปถึงสำนักเครื่องจักรกล โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เป็นจุดรองรับน้ำจากทางตอนบน ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทั้ง 2 มิติและสอดคล้องกับสถานการณ์ ร่วมกันบริหารจัดการน้ำระหว่างพื้นที่ โดยใช้ระบบชลประทานในการรับน้ำและระบายน้ำให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบและเต็มศักยภาพ
พร้อมกันนี้สั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณาการในการเตรียมพร้อมความรับมือสถานการณ์น้ำ ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด สู่ 6 แนวทางปฏิบัติของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พิจารณาปรับการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำรวมทั้งขุดลอกคลองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง พร้อมปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสามารถเข้าช่วยพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีและกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่นทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อเกษตรกรและประชาชนให้ได้มากที่สุด
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,253 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การ 3,557 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 66 ไปแล้ว 3,391 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม.) ภาพรวมการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรังปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้ว 6.43 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของแผนฯ (แผน 8.05 ล้านไร่) โดยกรมชลประทานได้ปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้เกษตรในพื้นที่ได้เริ่มเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึงในเดือนกันยายน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายได้
ขณะเดียวกันต้องวางแผนจัดสรรน้ำให้ทุกภาคส่วน ตลอดจนส่งน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรที่เพาะปลูกแล้วอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม.-สำนักข่าวไทย