ประจวบคีรีขันธ์ 5 มิ.ย.- อธิบดีกรมชลประทานสั่งระดมรถบรรทุกน้ำ ส่งน้ำช่วยชาวสวนทุเรียน 3 จังหวัด เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สาเหตุจากฝนตกน้อย ย้ำดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าเกษตรกรตัดผลผลิตจำหน่ายได้หมด พร้อมนำเครื่องจักร เครื่องมือ ขุดลอกคูคลอง เก็บกักน้ำทั้งเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 14 เข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนใน 3 จังหวัดภาคใต้ตอนบนได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากฝนตกน้อย ไม่เพียงพอหล่อเลี้ยงสวนทุเรียน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อผลผลิตที่ใกล้ออกสู่ตลาดได้
ทั้งนี้โครงการชลประทานเพชรบุรีส่งรถบรรทุกน้ำเข้าสนับสนุนชาวสวนทุเรียนพื้นที่ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้องในระยะเร่งด่วน รวมถึงนำรถแบคโฮ 2 คันเข้าขุดลอกตะกอนอ่างเก็บน้ำห้วยเกษมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อขยายน้ำซึมน้ำซับสำหรับส่งให้สวนทุเรียนในพื้นที่ดังกล่าว
ส่วนโครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์จัดส่งรถบรรทุกน้ำเข้าไปแจกจ่ายน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่บ้านป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหินและในอำเภอปราณบุรี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสวนทุเรียน รวมการช่วยเหลือต่อเนื่อง ตั้งเเต่วันที่ 11 เมษายนถึงปัจจุบัน ได้ส่งรถบรรทุกน้ำแล้ว 79 เที่ยว คิดเป็นปริมาณน้ำ 948,000 ลิตร ตลอดจนส่งรถขุด รถบรรทุก รถเทรลเลอร์ และรถเครนเข้าไปขุดลอกแหล่งน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอ โดยจะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
เช่นเดียวกับโครงการชลประทานชุมพรซึ่งส่งรถบรรทุกน้ำเข้าช่วยเหลือชาวสวนทุเรียน 3 อำเภอประกอบด้วย ตำบลเขาค่าย อำเภอสวี ตำบลช่องไม้แก้ว อำเภอทุ่งตะโก และตำบลสวนแตง อำเภอละแม เกษตรกรใช้น้ำฝนและน้ำจากคลองธรรมชาติเป็นหลัก ปกติในช่วงนี้ของทุกปีมีฝนตกประปราย แต่จากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้ฝนทิ้งช่วงนานถึง 3 เดือน แปลงทุเรียนอยู่ในระยะออกผลซึ่งจะตัดได้ปลายเดือนมิถุนายนและต้นเดือนกรกฎาคม จึงขาดน้ำ ทั้งนี้ได้นำรถบรรทุกน้ำไปสนับสนุนที่หอกระจายน้ำของชุมชน จากนั้นเกษตรกรและประชาชนจะมาบรรทุกน้ำต่อไปอีกทอดทั้ง รวมการสนับสนุนน้ำทั้งเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตรตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคมถึงปัจจุบัน 67 เที่ยว ปริมาณน้ำ 570,000 ลิตร นอกจากนี้ยังส่งเครื่องจักรเครื่องมือขุดลอกตะกอนในคลองธรรมชาติและสระเก็บน้ำประปาเพื่อให้มีสามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้น
นายประพิศกล่าวว่า ในช่วงต้นฤดูฝนนี้ หลายพื้นมีฝนน้อยกว่าค่าปกติ กรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ รองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยสั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ รวมถึงเครื่องจักรเครื่องมอืเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทันที พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากสภาวะเอลนีโญในปี 2566 นี้
ทั้งนี้ หน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านหรือโทรศัพท์สายด่วนกรมชลประทาน 1460.-สำนักข่าวไทย