ระยอง 2 มิ.ย.- อธิบดีกรมชลประทาน เผยเริ่มใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกสูบกลับเพื่อเติมน้ำต้นทุนลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ แล้วใช้เป็นศูนย์กลางกระจายน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ตามมาตรการรับฝนทิ้งช่วงและสภาวะเอลนีโญ ในปี 2566 ที่กรมอุตุฯ แจ้งเตือน ย้ำต้องบริหารจัดการให้มีน้ำเพียงพอ เพื่อปกป้องเศรษฐกิจภาคตะวันออก
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 9 เริ่มปฏิบัติการระบบสูบกลับน้ำของโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางกระจายน้ำเลี้ยงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ทั้งนี้ เป็นแผนปฏิบัติการที่วางไว้ล่วงหน้า ตามที่ได้รับแจ้งจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ในฤดูฝน 2566 จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ประมาณกลางเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนกรกฎาคม รวมทั้งช่วงกลางปีนี้จะเกิดสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน ทำให้ปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 5-10% จึงจำเป็นต้องมีแนวทางรับมือ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ
สำหรับแนวทางการผันน้ำเพื่อสำรองน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ เริ่มขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักงานชลประทานที่ 9 เดินเครื่องสูบของสถานีสูบน้ำคลองสะพาน ซึ่งมีศักยภาพสูงสุด 470,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน ส่งผลให้ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำประแสร์มีน้ำอยู่ 196 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 67 ของความจุ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าในฤดูแล้ง จนสามารถเป็นศูนย์กลางในการกระจายน้ำไปใช้ในพื้นที่ EEC ได้อย่างเพียงพอ
นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กล่าวว่า ระบบโครงข่ายน้ำภาคตะวันออกจะมีการบริหารจัดการน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกัน หรือที่รู้จักในชื่อว่า “ระบบอ่างพวง” โดยสำนักงานชลประทานที่ 9 จะบริหารจัดการตามแนวทางที่ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการน้ำภาคตะวันออก (Keyman Water Warroom) อย่างเคร่งครัด
สำหรับระบบสูบกลับน้ำ ซึ่งมีการสูบน้ำไปเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง จะสูบต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีศักยภาพการสูบได้วันละประมาณ 250,000 ลบ.ม. หรือเดือนละ 7.50 ล้าน ลบ.ม. น้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์จะผันไปลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ก่อนจะผันต่อไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล นอกจากนี้ยังจะสูบผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อรักษาระดับน้ำและคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์สำหรับการผลิตน้ำประปาของจังหวัดชลบุรี ซึ่งปีนี้วางแผนสูบผันน้ำตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน แต่หากตรวจคุณภาพน้ำแล้วพบค่าความเค็มเกินเกณฑ์ที่กำหนดก่อนแผนที่วางไว้ จะสูบผันน้ำทันที
ทั้งนี้ ปริมาณความต้องการใช้น้ำของพื้นที่ EEC จากโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก จะอยู่ที่ประมาณ 1.20 ล้าน ลบ.ม./วัน ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม โดยแผนการผันน้ำจะปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อรองรับการใช้น้ำครอบคลุม 3 จังหวัด คือ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ภายใต้ข้อตกลงของกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแผนสำรอง เช่น เครื่องสูบน้ำ หรือรถบรรทุกน้ำ ที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และตรวจสอบการทำงานของอาคารชลประทาน เครื่องมือ เครื่องจักร ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพตลอดเวลา เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาคตะวันออก.-สำนักข่าวไทย