กรุงเทพฯ 30 พ.ค.-อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยจัดตั้งทีม “มิสเตอร์อาหารสัตว์” เน้นพัฒนาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนแก้ไขปัญหาอาหารสัตว์เชิงรุก ประสาน มกอช. กำหนดมาตรฐาน GAP สำหรับฟาร์มหนอนแมลงบีเอสเอฟที่จะส่งเสริมเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดใหม่ ก้าวอีกขั้น กำหนด Carbon Credit ในวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ ตามเป้าหมายให้ไทยเป็นกลางทางคาร์บอนและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ได้ร่วมหารือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยซึ่งนำโดยนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผลิตอาหารสัตว์ไทย ที่เข้าพบเพื่อขอทราบแนวทางเกี่ยวกับทิศทางพัฒนาแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์และความร่วมมือด้านอาหารสัตว์
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์จะจัดตั้งทีม “มิสเตอร์อาหารสัตว์” ดำเนินการโดยกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ และสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ ซึ่งจะให้ความสำคัญในการพัฒนาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอาหารสัตว์เชิงรุก โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐและสมาคมที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อกำหนดแนวทางทำงานร่วมกัน
นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมการใช้แมลงบีเอสเอฟป่น (Black Soldier Fly : BSF) เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อลดการพึ่งพาวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ พร้อมแนวทางการจัดหาแหล่งอาหารสำหรับเลี้ยงหนอนแมลงบีเอสเอฟ โดยคำนึงถึงคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมกันนี้จะประสานสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในการกำหนดมาตรฐานฟาร์ม (GAP) สำหรับฟาร์มหนอนแมลงบีเอสเอฟ (Black Soldier Fly) เพื่อให้แมลงที่ผลิตได้ เหมาะสมต่อการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์
นายสัตวแพทย์สมชวนกล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ศึกษารูปแบบการเลี้ยงและศึกษาทดลองเลี้ยงหนอนแมลงบีเอสเอฟเพื่อเป็นต้นแบบ โดยเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาเป็นที่ปรึกษา สำหรับไปส่งเสริมด้านวิชาการการเลี้ยงและแนะนำเกษตรกรท้องถิ่นได้ พร้อมทั้งมอบให้กองควบคุมอาหารและยาสัตว์พิจารณาด้านการรับรองมาตรฐาน
ประเด็นที่สำคัญอีกประการคือ การกำหนดค่าคาร์บอน (Carbon Credit) ในวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลของวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศ สำหรับนำไปคำนวณค่าคาร์บอนและตอบรับนโยบายการผลิตที่ลดการสร้างคาร์บอนตามที่ไทยประกาศจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีค.ศ. 2065 โดยกรมปศุสัตว์จะพิจารณาถึงความยั่งยืนของวัตถุดิบอาหารสัตว์ โภชนาการที่แม่นยำและเหมาะสมในการผลิตอาหารสัตว์ในปัจจุบันด้วย.-สำนักข่าวไทย