กรุงเทพฯ 23 ก.พ.- อธิบดีกรมชลประทานเผย ได้เร่งรัดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบนเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในระยะยาวเนื่องจากเป็นลุ่มน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลำน้ำชีมีความยาวมาก แต่ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำ ย้ำต้องทำควบคู่กับการพัฒนาแหล่งน้ำตลอดสองฝั่งลำน้ำ โดยมีโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งเป็น 1 ในอ่างเก็บน้ำสำคัญของโครงการ คาดจะแล้วเสร็จในปี 2567 นี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้เร่งรัดการดำเนินดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบนให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ ประกอบด้วยโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 6 อ่างในจังหวัดชัยภูมิได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำลำเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำบ้านคลองเจริญ และอ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร
ทั้งนี้ลุ่มน้ำชีตอนบนมีลำน้ำชีเป็นลำน้ำสายหลักซึ่งมีความยาวจากต้นน้ำถึงจุดบรรจบลำน้ำพอง 765 กิโลเมตร แต่ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ มีเพียงการพัฒนาแหล่งน้ำและสระเก็บน้ำขนาดเล็กเท่านั้น ทำให้ในฤดูแล้งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร และกิจกรรมใช้น้ำอื่นๆ ขณะที่ฤดูฝนเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันมาอย่างต่อเนื่อง
นายประพิศกล่าวว่า อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริหรืออ่างเก็บน้ำยางนาดีเดิม สร้างที่อ. บ้านเขว้าและหนองบัวระเหว จ. ชัยภูมิ วงเงินโครงการ 3,100 ล้านบาท มีความจุ 70.21 ล้านลบ.ม. หัวงานเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน สันเขื่อนกว้าง 9 เมตร ความยาว 1,580 เมตร สูง 24 เมตร อาคารระบายน้ำล้นชนิดบานระบายแบบบานโค้งขนาดกว้าง 12.5 เมตร สูง 7.5 เมตร จำนวน 6 ช่อง คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2567 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนสถานีสูบน้ำตามลำน้ำชีตั้งแต่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำชีในเขตจ. ชัยภูมิ นครราชสีมา และขอนแก่น มีพื้นที่เกษตรสองฝั่งลำน้ำชีได้รับประโยชน์ฤดูฝน 75,000 ไร่และในฤดูแล้ง 30,000 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ 27 หมู่บ้านกว่า 22,000 คน ในพื้นที่อ.หนองบัวระเหว อ.บ้านเขว้า และ อ.เมืองชัยภูมิ อีกทั้งสนับสนุนการใช้น้ำตามลำน้ำชีตอนบนให้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดปี ช่วยชะลอน้ำไม่ให้ไหลลงด้านล่างเร็วเกินไป บรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนแหล่งน้ำเพื่อการทำประมง
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางความจุ 46.90 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 40,000 ไร่ เขื่อนหัวงานก่อสร้างปิดกั้นลำสะพุงอยู่ในท้องที่ อ.หนองบัวแดง คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในปี 2567
โครงการอ่างเก็บน้ำลำเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีความจุ 45.17 ล้านลบ.ม พื้นที่รับประโยชน์ 30,000 ไร่ เขื่อนหัวงานสร้างปิดกั้นลำเจียงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำชีในท้องที่ อ.ภักดีชุมพลและหนองบัวแดง.บรรจุเข้า คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2568
นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำบ้านคลองเจริญซึ่งจุดก่อสร้างอยู่ที่อ. หนองบัวแดง คาดว่า จะออกแบบจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2571
ส่วนอ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชรซึ่งก่อสร้างที่อ. หนองบัวระเหวนั้น ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว ใช้เป็นแหล่งน้ำช่วยเหลือการอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่อ.หนองบัวระเหว อ.เทพสถิต อ.บ้านเขว้า อ.จัตุรัส อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ และ อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา จำนวน 6,344 ครัวเรือน
หากอ่างเก็บน้ำทั้ง 6 แห่งแล้วเสร็จ จะทำให้เก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 246.20 ล้านลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 192,000 ไร่
ทั้งนี้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบนจะทำควบคู่กับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งล้าน้ำชีตามแนวพระราชดำริที่มีถึง 89 โครงการและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็กที่มี 72 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 430.3 ล้านลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 343,150 ไร่ โดยเป็นการน้อมนำพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 ความตอนหนึ่งว่า “…เขื่อนเก็บกักน้ำลำน้ำชีในเขตอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งกรมชลประทานวางโครงการจะก่อสร้างนั้น ปรากฏว่า มีปัญหาเรื่องที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำมาก จึงควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำบริเวณต้นน้ำลำน้ำชีและตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของลำน้ำชี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีเดิม ให้สามารถมีน้ำทำการเพาะปลูกได้ทั้งในระยะฤดูฝน-ฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปีด้วย…”
นายประพิศกล่าวย้ำว่า การพัฒนาแหล่งน้ำต้นในลุ่มน้ำชีตอนบนจะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ราษฎร โดยกรมชลประทานจะพัฒนาและบริหารจัดการน้ำตลอดลุ่มน้ำชีเพื่อให้เพียงพอใช้ในทุกกิจกรรมตลอดทั้งปี แม้ฤดูแล้งก็ไม่ขาดแคลน ขณะที่ฤดูฝนจะสามารถบรรเทาอุทกภัยให้ประชาชนในพื้นที่ได้.-สำนักข่าวไทย