กรุงเทพฯ 18 ม.ค.- กรมชลประทานเดินหน้า “โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก” หลังกนช. เห็นชอบในหลักการให้ปรับปรุงศักยภาพระบบระบายน้ำในแนวเหนือ-ใต้ระยะทาง 300 กิโลเมตร ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ดจนออกสู่ทะเลอ่าวไทย เพื่อบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการของ “โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก” แล้ว โดยโครงการนี้เป็น 1 ใน 9 แผนงานของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเปิดโครงการตามลำดับ
สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปัญหาอุทกภัยซ้ำซากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีแนวโน้มว่า ปริมาณน้ำหลากจะมากขึ้นในอนาคต สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากลักษณะของฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ที่ตกเป็นปริมาณมากในช่วงเวลาที่สั้นและต่อเนื่อง จนเกินความจุของลำน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและความสามารถในการระบายน้ำของลำน้ำสายอื่นๆ หรือการใช้ช่องทางการระบายต่างๆ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนไม่สามารถระบายลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและออกสู่อ่าวไทยได้ทัน
ในฤดูน้ำหลากที่ผ่านๆ มา กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ โดยใช้การระบายน้ำผ่านแม่น้ำและคลองชลประทานทั้งทางฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย แต่เนื่องจากปัจจุบันประสิทธิภาพของการระบายน้ำไม่สามารถระบายได้ตามศักยภาพ นอกจากนี้ความไม่ต่อเนื่องของคลองต่างๆ ก็เป็นอุปสรรคของการระบายน้ำออกทะเล รวมถึงลักษณะคลองเป็นคลองเพื่อการส่งน้ำ จึงต้องพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงรูปแบบคลองเพื่อให้มีความเหมาะสมเป็นทั้งคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย
กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการศึกษา สำรวจ ออกแบบ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ โดยลดภาระการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีแผนการดำเนินโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2568 – พ.ศ. 2571 และมีองค์ประกอบโครงการ ดังนี้
1. งานปรับปรุง/ขุดลอกคลองแนวเหนือ-ใต้และอาคารบังคับน้ำ ช่วงตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หนถึงคลองพิทยาลงกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หนลงชายทะเลอ่าวไทยระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร
2. ปรับปรุงคลองเดิมระยะทาง 6.16 กิโลเมตร ก่อสร้างคลองถนน (Street Canal) บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 5 ระยะทาง 4.41 กิโลเมตร และก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแนวลิขิต 1 (ระบายน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ ลงสู่คลองภาษีเจริญ) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.00 เมตร ความยาว 6.99 กิโลเมตร อัตราการสูบน้ำรวม 30 ลบ.ม./วินาที
3. ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืดเพื่อระบายน้ำจากคลองภาษีเจริญลงสู่คลองมหาชัยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร ความยาว 11.71 กิโลเมตร อัตราการสูบน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที
4. ปรับปรุงคันควบคุมน้ำทะเลพร้อมอาคารประกอบแนวคันแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัย ความยาว 42.06 กิโลเมตร รวมทั้งปรับปรุง/ขุดลอกคลองมหาชัย ความยาว 19.42 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำออกจากแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัยลงสู่ทะเล โดยจะเป็นการเพิ่มความจุของแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัยอีกด้วย
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ขณะนี้ออกแบบเรียบร้อยแล้ว จากนี้จะประสานงาน และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความพร้อมก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไป ซึ่งหากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นกลไกสำคัญ เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอุทกภัย ช่วยลดความเสียหายที่เกิดต่อชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม-อุตสาหกรรม ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นไปตามการดำเนินงานภายใต้ 9 แผนงานของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง.-สำนักข่าวไทย