กรุงเทพฯ 22 พ.ย.- อธิบดีกรมชลประทานเผย เดินหน้าจัดสรรน้ำตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งที่วางไว้ ขณะนี้พบว่า ทั่วประเทศจัดสรรน้ำแล้ว 9% ของแผนขณะที่เกษตรกรเพาะปลูกพืชแล้ว 8% ของแผน กำชับจัดสรรน้ำให้เหมาะสมใน 4 กิจกรรมหลักเพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้วตลอดสาย วานนี้ (21 พ.ย.) ระดับน้ำแม่น้ำน้อยที่ต. หัวเวียง อ. เสนา จ. พระนครศรีอยุธยาได้ลดลงต่ำกว่าตลิ่ง โดยบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่สุดของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำจึงลดลงเป็นพื้นที่สุดท้าย ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาคลี่คลายแล้ว เหลือเฉพาะน้ำที่ท่วมขังบางจุดซึ่งยังคงเร่งสูบออกอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับนำสรรพกำลังเข้าฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด
สำหรับปี 65 นี้ สามารถเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำได้เป็นปริมาณมากอย่างน่าพอใจ ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีน้ำรวมกัน 63,854 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้ 39,898 ล้าน ลบ.ม. ส่วน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำรวมกัน 20,875 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% ของความจุ ปริมาณน้ำใช้การได้ 14,161 ล้าน ลบ.ม.
นับตั้งแต่เข้าสู่ฤดูแล้งในวันที่ 1 พ.ย. 65 กรมชลประทานได้จัดสรรน้ำตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง 65/66 ทันที โดยแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศรวม 27,685 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,364 ล้าน ลบ.ม. หรือ 9% ของแผน ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแผนจัดสรรน้ำ 9,100 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 389 ล้าน ลบ.ม. หรือ 5% ของแผน ส่วนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศรวม 11.06 ล้านไร่ มีการเพาะปลูกแล้วรวม 0.896 ล้านไร่ หรือ 8% ของแผน ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนเพาะปลูกทั้งสิ้น 6.74 ล้านไร่ มีการเพาะปลูกแล้ว 0.565 ล้านไร่ หรือ 8% ของแผนเช่นกัน
ทั้งนี้ กรมชลประทานจะจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ 4 กิจกรรมหลักได้แก่ อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรมตามลำดับ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอไปจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้งในวันที่ 30 เม.ย. 66 ตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2565/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนดไว้
พร้อมกันนี้ย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืช รวมทั้งสิ่งกีดขวางทางน้ำ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาการขยายตัวของวัชพืชที่อาจสร้างความเสียหายในพื้นที่ทางน้ำชลประทานได้ รวมไปถึงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงฤดูแล้งนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ.-สำนักข่าวไทย