ชัยนาท 3 ต.ค.- อธิบดีกรมชลประทานระบุ ปรับเพิ่มการรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อลดปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ย้ำทุกโครงการชลประทานรับน้ำต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ แล้วเร่งระบายออกทะเล เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่านไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น ที่ จากนั้นไหลมารวมกับแม่น้ำสะเเกกรัง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในระยะนี้จะยังคงมีฝนตกชุกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,775 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาทีกรมชลประทานจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝน – น้ำท่า จึงได้พิจารณารับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันตกและตะวันออกรวม 335 ลบ.ม./วินาที และควบคุมให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกินอัตรา 2,700 ลบ.ม./วินาที ตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 45/2565 โดยกรมชลประทานจะใช้ระบบชลประทานทางฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล และฝั่งตะวันออกระบายลงสู่แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง และคลองชายทะเลเพื่อระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด
นายประพิศย้ำว่า ได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่พิจารณารับน้ำในปริมาณที่เหมาะสม โดยคำนึงฝนที่ตกในพื้นที่ด้วย เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องป้องกันให้ถนนสายหลักยังใช้สัญจรได้ พร้อมกันนี้ยังระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปช่วยเสริมศักยภาพในการระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆแล้วให้โครงการชลประทานแต่ละพื้นที่รับช่วงต่อการระบายน้ำให้สอดคล้องกันเพื่อให้สามารถระบายออกทะเลได้เร็วที่สุด
พร้อมกำชับให้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำตลอดเส้นทางน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย.-สำนักข่าวไทย