กรุงเทพฯ 28 ก.ย. – กรมทรัพยากรธรณี ตั้งวอร์รูม เตรียมพร้อมรับมือธรณีพิบัติภัยดินถล่มจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โนรู” 28-30 ก.ย. โดยพบว่า มีพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม 43 จังหวัด
นายสุวิทย์ โคสุวรรณ รองโฆษกกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ดินถล่ม จากการคาดการณ์อิทธิพลพายุโซนร้อน “โนรู” ที่จะเข้าสู่ประเทศไทยคืนนี้ พบว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากดินถล่มส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเชิงเขาและชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทางน้ำตามร่องเขาที่มวลดินเคลื่อนที่ผ่านใน 43 จังหวัด
ขณะนี้ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อน “โนรู” ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2565 โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ดังนี้
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา ชัยภูมิ เลย หนองคาย อุดรธานีหนองบัวลำภู ขอนแก่น
– ภาคเหนือด้ำแ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครสวรรค์
– ภาคกลางได้แก่ จังหวัดนครนายก ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์
– ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด
– ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง พังงา
ทั้งนี้ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยทั้ง 43 จังหวัดเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากโดยวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง พร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวัง
ส่วนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงมีข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้
– ควรหลีกเลี่ยงที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม หลีกเลี่ยงการก่อสร้างที่กระตุ้นให้เกิดแผ่นดินถล่ม หลีกเลี่ยงการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่บริเวณที่สูงชัน และที่ลาดเชิงเขาที่มีผลทำให้เสถียรภาพของลาดดินลดลง อาจส่งทำให้เกิดการเลื่อนไถลของชั้นดินและหินได้
– ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงภัย และลักษณะบ้านเรือนที่เสี่ยงภัยในชุมชน พร้อมทั้งร่วมกันจัดทำแผนเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยในชุมชน รวมถึงแผนอพยพหนีภัย ตลอดจนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่มของชุมชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
– ควรสังเกตสิ่งบอกเหตุการณ์เกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก เช่น มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ระดับน้ำในทางน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สีของน้ำในทางน้ำเปลี่ยนเป็นสีดิน มีเสียงดังมาจากภูเขาเนื่องจากเกิดการถล่มบนภูเขา เป็นต้นพร้อมทั้งการติดตามข่าวสารสภาพอากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัยดินถล่ม และข่าวประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
– ควรอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัยตามเส้นทางอพยพที่กำหนดไว้ โดยการอพยพควรกระทำอย่างรวดเร็วและไม่ควรกังวลในการเก็บทรัพย์สิน ทั้งนี้ ข้อพึงระวังในช่วงการอพยพคือ ไม่ควรอพยพข้ามลำน้ำ เพราะอาจจะเกิดการชำรุดหรือพังลงมาของสะพานข้ามลำน้ำ ทำให้ถูกน้ำพัดพาไปได้ และระหว่างที่อพยพอย่าเข้าใกล้บริเวณดินถล่มและเส้นทางของดินถล่มโดยเด็ดขาด
– หากพลัดตกน้ำ ให้หาต้นไม้ใหญ่ยึดเกาะและปีนให้พื้นน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีเพราะอาจกระแทกกับเศษหิน ดิน ซากต้นไม้ ที่ลอยมากับน้ำได้
– ไม่ควรเข้าใกล้หรือกลับเข้าไปในบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เพราะอาจเกิดดินถล่มซ้ำได้.-สำนักข่าวไทย